“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ โครงการพัฒนาสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน ทรงให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าโครงการที่พระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรก ๆ เป็นการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างสถานบริการสาธารณสุขและระยะต่อมาเป็นโครงการพัฒนาสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีตามไปด้วย

ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“…ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง…”

“…ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแล บำบัดทุกข์ให้แก่เด็กนักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปบนรถยนต์ และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท…”

 

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพบว่าราษฎรเป็นจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2510 ต่อมาเมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะงานได้เป็น 2 ประการ คือ

ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

1. แพทย์ประจำพระองค์ และคณะแพทย์ตามเสด็จฯ
2. หน่วยแพทย์หลวงกองแพทย์หลวง สำนักพระราชวัง และเจ้าหน้าที่
3. คณะแพทย์ตามพระราชประสงค์ เป็นแพทย์ที่อาสามาจากหลายสาขาวิชาหลายหน่วยงาน

3.1. คณะศัลยแพทย์อาสา จากราชวิทยาลัยศัลย์แพทย์แห่งประเทศไทย
3.2. คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลศิริราช
3.3. คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
3.4. คณะแพทย์หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้
3.5. หน่วยทันตแพทย์เคลื่อนที่ จากกรมแพทย์ทหารบก
3.6. คณะจักษุแพทย์

การอบรม “หมอหมู่บ้าน” ตามพระราชดำริ

ทรงมีพระราชดำริให้คัดเลือกราษฎรอาสาสมัครตามหมู่บ้านต่าง ๆ มารับการอบรมหลักสูตร “หมอหมู่บ้าน” โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2525 เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับการอบรมนำความรู้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตน การอบรมจะเน้นในเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเวชศาสตร์ป้องกันอย่างง่าย ๆ การโภชนการ (โดยเฉพาะแม่และเด็ก) การติดต่อกับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลของรัฐคือสถานีอนามัย จนถึงโรงพยาบาลอำเภอและจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่มาให้การสนับสนุนในการอบรมหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งพลเรือนและทหาร ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายการแพทย์ สถานที่ดำเนินการฝึกอบรม ได้แก่ โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่

งานทั้ง 2 ลักษณะข้างต้น มีพื้นที่ครอบคลุมในภาคเหนือตอนบน ประมาณ 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร มหาสารคม กาฬสินธุ์ เลย และในภาคใต้ 4

พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่าง ๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้ป่วยไข้ได้ทันที ทรงเป็นห่วง และเอื้ออาทรต่อทุกข์สุขของพสกนิกรอย่างจริงจังจึงทรงได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่หลากหลายตามสถานการณ์และพื้นที่ขึ้น

โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่ตามเสด็จฯ ตรวจและรักษาคนไข้ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2512 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการชาวเขา และทรงพบว่าราษฎรที่มารอรับเสด็จป่วยเป็นไข้กันมาก

โครงการประกอบด้วยการบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้าน เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุข ภาพอนามัยของราษฎร ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีอุปสรรคที่ระบบรักษาพยาบาลปกติไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราษฎรส่วนใหญ่ มีฐานะยากจน และขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง การมีคณะแพทย์ พระราชทานออกไปบำบัดรักษา ผู้ป่วยจะทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับ การรักษาอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ใด ๆ

สำหรับการ อบรมหมอหมู่บ้านนั้น จะช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน รู้จักวิธีรักษาพยาบาลแบบปัจจุบัน และรู้จักวิธีติดต่อกับหน่วยราชการ ในกรณีที่เกินขีดความสามารถที่จะดูแลรักษาตนเองได้ อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้

โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน

ทรงริเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510 เพื่อตรวจรักษาราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า และถ้าจำเป็นก็จัดส่งไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดต่าง ๆ ที่เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม และในท้องถิ่น ต่าง ๆ ที่ห่างไกลตัวเมืองมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษาและพยาบาลราษฎรโดยไม่คิดมูลค้าในท้องถิ่นกันดาร ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์

โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานประกอบด้วยการบำบัดและการรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และการอบรมหมอหมู่บ้านเพื่อเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์

โครงการตามพระราชประสงค์ หมายถึง โครงการที่ทรงศึกษาปฏิบัติส่วนพระองค์กับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ เมื่อได้ผลดีแล้วจึงทรงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

โดยโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2517 เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส นิคมนี้ มีสถานีอนามัยเพียงแห่งเดียว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์หมุนเวียนเข้าไปบริการตรวจรักษา โดยจะมีแพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล นราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ออกไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นประจำ

หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน

ในปี 2512 ได้ทรงมีพระราชปรารภว่า

“…เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกล จะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า…” ในเวลาต่อมา ทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มี พระองค์ทรงรับสั่งว่า

“…การที่จะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง…”
ทรงตรัสแก่ทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า

“…ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกล และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็น โดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้าน ที่อยู่ ห่างไกล ชนบท…” หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงก่อกำเนิดขึ้น ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน มีทันตแพทย์อาสาออกปฏิบัติงานโดยเริ่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมี ทันตแพทย์ สี สิริสิงห์ เป็นหัวหน้าทีม เพื่อส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือ บำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็กนักเรียนและประชาชน ที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า ได้รับความร่วมมือจากทันตแพทย์โรงพยาบาลต่าง ๆ ในการออกปฏิบัติการภาคสนาม

โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังจากที่เปิดโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ใน พ.ศ. 2517 แพทย์ที่อาสาสมัครซึ่งเป็นแพทย์อาวุโสและมีประสบการณ์มาก เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีศัลยแพทย์อาสาไปช่วยปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนคร ในช่วงที่เสด็จแปรพระราชฐาน ประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จึงได้มีการศึกษาหาข้อมูล และความต้องการของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ในด้านศัลยกรรม และ รวบรวมจัดทำทำเนียบศัลยแพทย์อาสา แล้วก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ขึ้นภายหลัง ทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ เปลี่ยนชื่อเป็น “ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย”

ทรงมีพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาแพทย์ศาสตร์ตอนหนึ่งว่า

โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน

ทรงมีพระราชดำริให้เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2522 เนื่องจากมีราษฎรเป็นจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคหู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเหล่านี้ โปรดเกล้าฯให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครในโรคดังกล่าว ผลัดกันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐานโดย อาศัยแพทย์หู คอ จมูกอาสาสมัครจาก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติราชการชุดละ 2 สัปดาห์ เริ่มที่จังหวัดนราธิวาสก่อน ต่อมาขยายการปฏิบัติงานไปที่จังหวัดสกนนคร และที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่

โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์

ความเจ็บป่วยของราษฎรเกิดจากการไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง ประกอบกับไม่มีสถานพยาบาล หรืออยู่ไกล บ้างก็เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ จึงมีพระราชดำริจัดตั้ง “โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์” โดยคัดเลือกคนในหมู่บ้านรับการฝึกอบรม การรักษาพยาบาลเบื้อต้น การรักษาโรคอย่างง่าย เพื่อสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมหมู่บ้านได้ โดยใน พ.ศ. 2517 เริ่มบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคม สร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส นิคมนี้มีสถานีอนามัยเพียงแห่งเดียว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์หมุนเวียนเข้าไปบริการตรวจรักษา แพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล นราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ออกไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นประจำ

โครงการมากมายเหล่านี้ แสดงถึงความตั้งพระทัยในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรอย่างแท้จริง ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ทรงยึดมั่นที่จะสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย และสมเด็จพระบรมราชชนนี พระมารดาของการแพทย์ชนบท ในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป

“…การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดี และสังคมที่มั่นคงเพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ด้วย และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจ และสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือ เป็นแต่ผู้สร้างมิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในพระราชพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตุลาคม พ.ศ. 2522

แกลเลอรี่ภาพ “ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านสาธารณสุข ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข. (n.d.). โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข. สำนักงาน กปร. เมื่อ 20 เมษายน, 2565, จาก shorturl.at/etyGZ
ชมรมจริยธรรม. (n.d.). พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข. เมื่อ 26 เมษายน, 2565, จาก https://nih.dmsc.moph.go.th/jariyatam/home5.html
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.