“กินข้าวกินปลามาหรือยัง” เป็นคำถามที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยได้อย่างชัดเจน เพราะคนไทยแต่เดิมมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เพียงกินอิ่มนอนหลับก็มีความสุขตามอัตภาพแล้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระราชหฤทัยในการแสวงหาแหล่งอาหารโปรตีนที่หาง่ายและราคาไม่แพงเพื่อคนไทย แรกเริ่ม ทรงเลี้ยงปลาหมอเทศที่เจ้าหน้าที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ถวายในสระน้ำบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน ในพ.ศ. 2495 จากนั้นทรงให้กรมประมงนำมาทดลองเลี้ยงและขยายพันธุ์ในพื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานด้วย เนื่องจากปลาหมอเทศเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว กินอาหารธรรมชาติ คือ ตะไคร่น้ำ และเศษวัชพืช อีกทั้งยังสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ง่าย

กำเนิด “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา”

ต่อมาในเดือนมีนาคมปี 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย (tilapia) จำนวน 50 ตัว โดยแรกเริ่ม ทรงให้นำปลาดังกล่าวไปเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ในพระตำหนักสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อมาได้ทรงย้ายปลาลงเลี้ยงในบ่อดิน อีก 5 เดือนเศษต่อมา มีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทรงให้ขุดบ่อดินเพิ่มขึ้นเป็น 6 บ่อ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2508 และได้ทรงปล่อยปลาลงเลี้ยงในบ่อเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง และเจ้าหน้าที่กรมประมงได้ติดตามการเจริญเติบโตของปลาทุกเดือน พบว่าปลาชนิดนี้เจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก มีขนาดเฉลี่ยถึง 178.8 กรัม ในระยะเวลา 6 เดือน

ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 ทรง พระราชทานลูกปลาดังกล่าว ขนาดความยาว 3–5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว จากบ่อดินในบริเวณพระตำหนักสวนจิตรลดา แก่กรมประมงเพื่อนำไปขยายพันธุ์ ณ แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน จังหวัดพระนครและสถานีประมงต่าง ๆ 15 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้ดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์พร้อม ๆ กัน และได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”

เมื่อปลานิลแพร่ขยายพันธุ์ออกไปได้มากเพียงพอแล้ว กรมประมงจึงได้แจกจ่ายพันธุ์ปลานิลให้แก่ราษฎรเพิ่มเติมเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการ และกรมประมงได้กำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน นับแต่วันที่กรมประมงได้รับพระราชทานปลานิลมาเป็นวันแจก “ปลานิลพระราชทาน” ให้แก่ราษฎร โดยในระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2513 รวมระยะเวลาประมาณ 3 ปี กรมประมงได้แจกจ่ายพันธุ์ปลานิลไปเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,093,900 ตัว

ขยายพันธุ์ทั่วประเทศเพื่อปวงประชา

อย่างไรก็ตาม จำนวนพันธุ์ปลานิลที่ได้ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชนที่ต้องการนำไปเพาะเลี้ยง โดยที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขนเพียงแห่งเดียว ก็ได้มีราษฎรมาติดต่อขอรับพันธุ์ปลานิลเดือนละไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว จึงได้ทรงให้ขุดบ่อขนาดใหญ่ในสวนจิตรลดาเพื่มขึ้นอีก 1 บ่อ เพื่อช่วยเร่งผลิตพันธุ์ปลานิลให้เพียงพอแก่ความต้องการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ได้ทำการปรับปรุงบ่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นแต่จำนวนลดลงเหลือเพียง 7 บ่อ และได้ใช้ในการผลิตพันธุ์ปลานิล ซึ่งนับว่าเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้พันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในนามว่า “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา”

จากวันนั้นจนถึงทุกวันนี้ “ปลานิล” จึงกลายมาเป็นปลาเศรษฐกิจที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงเป็นอาชีพสร้างรายได้ และปลานิลก็เป็นอาหารที่สามารถนำมาปรุงเป็นเมนูต่าง ๆ ที่กินดีมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย อาทิ ปลานิลมีโอเมก้า 3 ช่วยเพิ่มการจดจำของสมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อม ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือด และหัวใจ เพราะว่าปลานิลที่มีโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ มีคอเลสเตอรอลและไขมันต่ำ

“ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”

ด้วยเหตุที่ทรงเป็นผู้ริเริ่มเพาะเลี้ยงปลานิล ทำให้ไม่โปรดเสวยปลานิล หากมีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่โปรดเสวย ทรงมีรับสั่งว่า “ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”

“…ให้กรมประมงรักษาพันธุ์ไว้ในสวนจิตรลดา ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่า ปลาดังกล่าวมิได้กลายพันธุ์ไป ขอให้เร่งรัดเรื่องพันธุกรรม ถ้าหาพ่อแม่พันธุ์ไม่ได้ก็มาเอาที่สวนจิตรลดา…”

พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
17 มีนาคม 2509

แกลเลอรี่ภาพ “ ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

ธรรมศักดิ์, จ., กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, & โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา. (1468). 50 ปีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา. ปลานิลจิตรลดา. (n.d.). กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ. กรมประมง. เมื่อ 28 เมษายน, 2565, จากhttps://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/view_qr_group/113/1570
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.