พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2507 และเยี่ยมเยียนราษฎรใกล้เคียง ทรงได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร กลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์สำหรับประกอบอาชีพ และให้จัดหาที่ดินในเขตจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้ ต่อมามีการพัฒนาที่ดินหุบกะพง ตำบลเขาใหญ่ และตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการตามพระราชประสงค์แห่งแรกของประเทศไทย

เริ่มจากพัฒนาที่ดิน สู่ระบบสหกรณ์

ทรงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ เพื่อจัดทำเป็นที่ดินทำกินเหมาะแก่การเพาะปลูก เมื่อการพัฒนาที่ดินดีขึ้นแล้ว ทรงจัดให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนและขยันหมั่นเพียร แต่ขาดแคลนที่ดินทำกิน เข้ามาอยู่อาศัย มีการอพยพครอบครัวเกษตรกรและจัดให้อยู่เป็น “หมู่บ้านเกษตรกร” มีเจ้าหน้าที่ราชการ ช่วยเหลือให้คำแนะนำการบริหารงานของหมู่บ้านตัวอย่าง และมีการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักและวิธีการสหกรณ์ และเมื่อสมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจดีขึ้นพอแล้ว ได้มรการร่วมเข้าชื่อกันเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 ทรงพระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด และได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน 3 ฉบับ รวมเนื้อที่ 12,079 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเจ้าของโครงการ ปัจจุบันโฉนดที่ดินอยู่ในพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เปลี่ยนพระนามโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561) สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9

หลักการ วิธีการ และอุดมการณ์ของ“สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” ได้ถูกนำมาต่อยอดพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมจนประสบความสำเร็จและนำมาเป็นแบบอย่างในการขยายผลสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในขณะนี้

ความร่วมมือกับอิสราเอล

รัฐบาลอิสราเอล โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ในขณะนั้น ได้รับทราบหลักการของโครงการฯ และอาสาช่วยเหลือในการพัฒนาการเกษตรในรูปของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ โดยประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงเกี่ยวกับนวัตกรรมการเกษตร เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นดินทรายที่ไม่เหมาะต่อการทำเกษตรกรรม

จากนั้น มีการทำสัญญาร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล เป็นเวลา 5 ปี ระหว่าง 19 สิงหาคม 2509 ถึง 18 สิงหาคม 2514 ชื่อ “โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชุมชน (หุบกะพง)” โดยเลือกที่ดินบริเวณหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตรของโครงการ

สร้างความมั่นคงทางอาหาร

โครงการตามพระราชประสงค์หุบกระพง สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยการการคัดเลือกและเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และภูมิประเทศบริเวณนั้น เกิดเป็นแหล่งอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับเกษตรกรและประชาชน รวมทั้งยังมีการสาธิตและฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการ และบริเวณใกล้เคียง เพื่อเพิ่มการผลิตอาหารโปรตีนไว้เพื่อการบริโภคให้พอเพียงในพื้นที่ นอกจากนี้ยังอำนวยให้เกษตรกรมีที่ดินทํากิน มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีอาชีพที่มั่นคง ได้ต่อยอดผลผลิตของเกษตรกรที่มีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น มีเงินหมุนเวียนในสหกรณ์หมู่บ้าน ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน คนในชุมชนยอมรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะของกันละกัน ท้ายที่สุดคือ โครงการฯ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเยี่ยมชมเกี่ยวกับแนวพระราชดำริ เพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชนของตนเองต่อไป

พัฒนา 6 ด้าน

ปัจจุบันมีโครงการฯ ได้ดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 6 ด้าน ประกอบด้วย

01

ด้านการจัดพัฒนาที่ดินและชลประทาน ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์

02

ด้านการส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร หุบกะพง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการฯ

03

ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรและสมาชิกโครงการฯ

04

ด้านการประชาสัมพันธ์โครงการฯ

05

ด้านการสาธิต ทดลอง

06

โครงการพิเศษ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาแก่ผู้สนใจและบุคคลทั่วไป มีประชาชนนิสิต นักศึกษา รวมทั้งชาวต่างประเทศเข้าเยี่ยมชมโครงการปีละประมาณ 40,000 คน

“…คำว่า “สหกรณ์” แปลว่า การทํางานร่วมกัน การทํางานร่วมกันนี้ลึกซึ่งมาก เพราะว่าจะต้องร่วมมือกันในทุกด้าน ทั้งในด้านงานการที่ทําด้วยร่างกาย ทั้งในด้านงานการที่ทําด้วยสมอง และงานการที่ทําด้วยใจ ทุกอย่างนี้ขาดไม่ได้ต้องพร้อม งานที่ทําด้วยร่างกาย ถ้าแต่ละคนทําก็เกิดผลขึ้นมาได้ เช่น การทําเพาะปลูกก็มีผลขึ้นมา สามารถที่จะใช้ผลในด้านการบริโภคคือ เอาไปรับประทานหรือเอาไปใช้หรือเอาไปจําหน่ายเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงชีพได้ ถ้าแต่ละคนทําไปโดยลําพังแต่ละคน งานที่ทํานั้นผลอาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และอาจจะไม่พอเพียงในการเลี้ยงตัวเอง ทําให้มีความเดือดร้อน ฉะนั้นจะต้องร่วมกันแม้ในขั้นที่ทําในครอบครัวก็จะต้องช่วย กันทุกคนในครอบครัวก็ช่วยกันทํางานทําการ เพื่อที่จะเลี้ยงครอบครัวให้มีชีวิตอยู่ได้ แต่ว่าถ้าร่วมกันหลายๆ คนเป็นกลุ่ม เป็นก้อนก็สามารถที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มี ความสามารถ มีผลได้มากขึ้น…”

พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่ผู้นําสหกรณ์ทั่วประเทศเมื่อครั้งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาดุสิดาลัย
11 พฤษภาคม 2526

แกลเลอรี่ภาพ “ โครงการตามพระราชประสงค์หุบกระพง”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดเพชรบุรี. (n.d.). โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง. จังหวัดเพชรบุรี. เมื่อ 28 เมษายน, 2565, จากhttps://www.phetchaburi.go.th/data/kingproject/project_1.html
กลุ่มนโยบายพิเศษ. (2562, June 21). “องค์ความรู้จากโครงการหุบกะพง”. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. เมื่อ 28 เมษายน, 2565, จาก https://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/113
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.