จากการเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ ทำให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประจักษ์ชัดถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร ทรงมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการเกษตรของไทยให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้ง “โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา” ขึ้น โดยทรงใช้พื้นที่บางส่วนของสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หาวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ถูกต้องตรงจุดด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร พระมหากรุณาธิคุณแก่เกษตรกรทั้งหลายเหล่านี้ ในเวลาต่อมาได้ขยายเป็นโครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทวีมากขึ้นตามกาลเวลา และล้วนแต่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่เกษตรกรในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

ห้องทดลองกลางแจ้ง
มุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยปัญญา

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา คือ “แหล่งเรียนรู้” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมรวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไปโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการทดลองเพื่อมุ่งแสวงหามิติใหม่แห่งภูมิปัญญาทรงโปรดเกล้าให้ดำเนินการในพื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานภายในเขตพระราชฐานที่ประทับของพระองค์เอง

พระราชวังดุสิตเป็น “พระราชวังที่ไม่เหมือนพระราชวังแห่งใดในโลก” ซึ่งสะท้อนให้เห็นพระราชวังที่แวดล้อมด้วยการวิจัยและทดลองด้านเกษตรกรรมการปศุสัตว์การประมงป่าไม้งานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมมีทั้งโรงสีข้าวโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเกษตรพื้นฐานและประยุกต์เพื่อการผลิตแบบครบวงจรตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปีที่ทรงพัฒนาโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาทรงแสดงให้ประชาชนเห็นประจักษ์ถึงกระบวนการคิดการค้นคว้าบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์เพื่อความอยู่ดีกินดีความหวังความยั่งยืนของประเทศไทย

พระวิสัยทัศน์กว้างไกลล้ำยุคสมัยและลุ่มลึกทรงศึกษาปัญหาถึงแก่นโดยทรงตระหนักว่าในระยะที่เริ่มดำเนินโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลเรื่องแนวคิดในการเป็นประเทศอุตสาหกรรมจากตะวันตกซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดจะช่วยให้สังคมเกษตรกรรมอย่างประเทศสามารถปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกระแสโลกโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ที่ดำรงมาแต่ป่าเก่าก่อนก็คือ “ปัญญา”

โครงการ 2 ประเภทใน “บ้านของพระราชา”

01

โครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจ

เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่สนองแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ ทรงสนพระราชหฤทัยในการเกษตร ทรงปลูกต้นไม้หลายชนิดบนพระระเบียงชั้นบนพระตำหนักที่ประทับ และทรงทดลองการใช้ปุ๋ย ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทุกชนิดด้วยพระองค์เองมาตลอด รวมถึงการเพาะพันธุ์ปลา จึงทำให้โครงการต่าง ๆ เกิดขึ้น หลายโครงการในสวนจิตรลดา นับตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา เช่น

ทรงเลี้ยงปลาหมอเทศ โดยเริ่มจากทรงเลี้ยงในสระว่ายน้ำหน้าพระที่นั่งอุดรในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน แล้วได้พระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศ ให้กับผู้ใหญ่และกำนันทั่วประเทศนำไปเลี้ยง
ทรงทดลองปลูกต้นยางด้วยพระองค์เอง ต่อมาทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ใน ลักษณะป่าไม้สาธิต
ทรงให้กรมการข้าวมาจัดทำนาข้าวทดลองปลูกข้าวพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งทางราชการได้ขอ พระราชทานข้าวเปลือกที่ปลูกได้ส่วนหนึ่งไปใช้เป็นข้าวพิธีในพระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แจกให้กับชาวนา เกษตรกร และให้พระยาแรกนาหว่านข้าวในแปลงนาทดลอง หลังจากงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นประจำทุกปี
ทรงเลี้ยงปลานิล ที่สมเด็จพระจักรพรรดิ แห่งญี่ปุ่น ขณะดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารเจ้าชายอากิฮิโตะ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลาไว้ในบ่อปลาใน โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และได้พระราชทาน พันธุ์ปลานิลที่เพาะพันธุ์จากบ่อแก่กรมประมงเพื่อนำไป ขยายพันธุ์ทั่วประเทศ
ทรงจัดทำโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุ์พืช เอกลักษณ์ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งมีขนุน ไพศาลทักษิณ มณฑายี่หุบ พุดสวน ในพระบรม มหาราชวังและสมอไทย ในพระที่นั่งอัมพรสถาน นอกจากนี้ ยังมีการอนุรักษ์พรรณไม้เก่าแก่ ซึ่งเป็นพื้น ฐานในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของโครงการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
มีโครงการสวนพืชสมุนไพร โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นแหล่งศึกษา เกี่ยวกับสายพันธุ์ วิธีการขยายพันธุ์และเป็นพื้นฐาน ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากพืชสมุนไพร ตลอดจนเผยแพร่คุณประโยชน์ของสมุนไพรแก่ ผู้สนใจเข้าชมกิจการ
โครงการบำบัดน้ำเสีย (ปี พ.ศ. 2528) ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองปลูกผักตบชวาเพื่อขจัดน้ำเสียบริเวณพระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ในเดือนพฤษภาคม 2537 ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำโครงการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำสะอาด สามารถบริโภคได้
เชื้อเพลิงเขียว (ปี พ.ศ. 2530) เชื้อเพลิงจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเป็นสิ่งซึ่ง โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา สนใจพัฒนาต่อ จากเชื้อเพลิงแท่ง ซึ่งผลิตจากแกลบบด เศษวัสดุเหลือ ใช้ ทั้งชานอ้อย เปลือกส้ม และผักตบชวาจากโครงการ กำจัดน้ำเสีย สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเขียว สำหรับใช้เป็นแหล่งพลังงานได้ทั้งสิ้น
มีศูนย์คอมพิวเตอร์โครงการ ส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (ปี พ.ศ. 2539) ตั้งแต่การผลิต คลังเก็บ สินค้า การจำหน่าย และระบบบัญชีการเงิน ทั้งยัง เป็นศูนย์กลางข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยโดยผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
Previous
Next

02

โครงการกึ่งธุรกิจ

เป็นโครงการทดลอง แปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตรที่มีการบริหารการ เงินครบวงจร โดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภคในราคาที่ไม่หวังผลกำไรและดำเนินการโดยมีการบริหารการเงินครบวงจร มีรายได้ รายจ่าย โดยไม่มีโบนัส แต่นำรายได้จากการจำหน่ายมาใช้พัฒนาโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาต่อไป โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกได้ดังนี้

โรงโคนมสวนจิตรลดา (ปี พ.ศ. 2505) ได้มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายโคเพศเมีย 5 ตัว เพศผู้ 1 ตัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการ ส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จัดการเลี้ยงโคนมร่วม กับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ซึ่งโคนมส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ ลูกผสมโฮลสโตน์-ฟรีส์เซี่ยน มี การจำหน่ายนมสดที่รีดได้แก่สมาชิกของโรงโคนม สวน จิตรลดา และพระราชทานลูกโคเพศผู้เป็นโคพันธุ์แก่ เกษตรกรที่ทำหนังสือขอพระราชทาน
โรงนมผงสวนดุสิต (ปี พ.ศ. 2512) จากสภาวะนมสดล้นตลาด เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้ ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระองค์ท่าน ซึ่งได้ทรงจัดตั้งโรงนมผงขึ้น และพระราชทานชื่อว่า “โรงนมผง สวนดุสิต” โรงนมผง แห่งนี้ถือเป็น “โรงนมผงแห่งแรกในประเทศไทย” ซึ่งมี การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องจักรมาโดยตลอดเพื่อให้คุณภาพ นมผงที่ผลิตดีขึ้น สามารถผลิตนมผงได้ 8 ตันต่อวัน
โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา (ปี พ.ศ. 2514) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จัดตั้งโรงสีข้าวทดลองขึ้น และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกแบบต่าง ๆ รวมทั้งยุ้งฉางข้าวแบบสหกรณ์
โรงกระถางผักตบชวา (ปี พ.ศ. 2532 - 2548) ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการนำผักตบชวาไปใช้ให้เป็น ประโยชน์ นอกเหนือจากการนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ และเชื้อเพลิงเขียว เช่น ทำกระถางจากผักตบชวา
โรงอาหารปลาและสาหร่ายเกลียวทอง (ปี พ.ศ. 2529) โรงอาหารปลาและ สาหร่ายเกลียวทอง ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำน้ำกากมูลหมัก ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการ ผลิตแก๊สชีวภาพ เพื่อศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสม และทดลองผลิตอาหารปลาที่มีสาหร่ายเกลียวทองผสมอยู่ด้วย
งานผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง (ปี พ.ศ. 2534) เป็นโครงการผลิตน้ำผึ้งบรรจุหลอดพลาสติก และบรรจุขวดขนาดต่าง ๆ โดยได้รับซื้อน้ำผึ้งจาก สหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
งานผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋อง (ปี พ.ศ. 2535) ได้ก่อสร้างโรงงานน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบในการผลิตน้ำผลไม้ต่าง ๆ ครบวงจร โดยมีการผลิตน้ำผลไม้เข้มข้น น้ำผลไม้บรรจุกระป๋องเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาศึกษานำความรู้ในการผลิตน้ำผลไม้ แต่ละชนิดไปใช้ประโยชน์ต่อไป
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีโครงการเกี่ยวกับพลังงานทดแทนอีกหลายหน่วยงาน เช่น โรงบดแกลบ งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง โครงการดีโซฮอล์ โครงการไบโอดีเซล
Previous
Next

 จากตัวอย่างเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เท่าที่ได้กล่าวมานี้ จะเห็นว่าสวนจิตรลดา เป็นยิ่งกว่าที่ประทับของพระมหากษัตริย์ อาจเป็นวังพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกนี้ที่เป็นสถานที่ทดลองโครงการเพื่อผลประโยชน์ของราษฎร ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ ที่มีต่อราษฎรที่ทรงห่วงใยและทรงทุ่มเทพยายามคิดแก้ไขปัญหาให้ราษฎรตลอดมา

“…การเกษตรนั้นถือได้ว่าเป็นทั้งรากฐานและชีวิตสำหรับประเทศของเรา เพราะคนไทยเราส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพทางเกษตรกรรม. ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นเสมอมาว่าวิธีการพัฒนาที่เหมาะสมแก่ประเทศเราอย่างยิ่ง ก็คือจะต้องทํานุบํารุงเกษตรกรรมทุกสาขาให้พัฒนาก้าวหน้า เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกระดับให้สูงขึ้น…”

พระบรมราโชวาท
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ
23 กรกฎาคม 2541

แกลเลอรี่ภาพ “ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

ธรรมศักดิ์, จ., กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, & โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา. (2554). 50 ปีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.