หากศึกษาเรื่องราวการทรงคิดค้นไบโอดีเซลโดยละเอียดจะเข้าใจได้ว่า กระบวนการและเรื่องราวทั้งหมดนี้ คือปรัชญาการดำเนินชีวิตมิใช่แค่เพียงเรื่องเชื้อเพลิงเท่านั้น

ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนด้วยการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นที่สามารถปลูกหรือผลิตขึ้นเอง ด้วยเหตุนี้ จึงทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่เป็นเลิศในการมองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไขแบบบูรณาการ 

“...การที่น้ำมันแพงขึ้น คนซื้อก็ตกใจ เพราะว่าน้ำมันนั้น เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ทำมาหากินได้ และถ้าน้ำมันแพงแล้ว ค่าตอบแทนในอาชีพมันคงที่ หรือค่าใช้จ่ายมากขึ้นแต่รายได้ น้อยลง อย่างนี้บางคนเกือบจะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น จะต้อง ค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ว่าเชื้อเพลิงแพงกว่าน้ำมันที่ซื้อมาจาก ต่างประเทศ”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ
ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ 4 ธันวาคม 2548

ส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันACขนาดเล็ก

ในการเสด็จไปทอดพระเนตรสวนปาล์มที่ นิคมสร้างตนเองควนกาหลง จังหวัดสตูล อันเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแห่งแรก ๆ ของประเทศไทย วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2518 ในครั้งนั้น ปาล์มน้ำมันยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเห็นว่าเป็นพืชที่ให้คุณค่าแก่เกษตรกรได้มากกว่าการเก็บผลขาย นำมาซึ่ง “โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างโรงงานสาธิตสกัดปาล์มน้ำมันขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2526 ไม่เพียงใช้เพื่อบริโภค แต่ยังมีการศึกษาการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อเป็นพืชพลังงาน และในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวนและปรับตัวขึ้นอย่างสูง ได้มีการทดลองปลูกเพื่อนำมาใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล

เอทิลแอลกอฮอล์จากอ้อยและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์

จากความสำเร็จของการพัฒนาผลิต “เอทิลแอลกอฮอล์” จากอ้อยที่ใช้ผสมน้ำมันเบนซินได้เป็น “ก๊าซโซฮอล” แต่เนื่องจากภาคการเกษตรและภาคการผลิตอื่น ๆ บรรดาเครื่องจักรการเกษตรเรือประมงเครื่องจักรรอบต่ำอื่น ๆ ล้วนใช้น้ำมันดีเซล ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. 2543 จึงทรงมีพระราชดำริให้ทดลองดำเนินการปลูกและผลิตน้ำมันดีเซลจากพืชพลังงานชนิดต่าง ๆ และทรงโปรดให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ริเริ่มดำเนินการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์

ในระยะแรกนั้น ยังมีความกังวลในหมู่ผู้ใช้น้ำมันว่า น้ำมันจากพืชจะใช้เติมเครื่องยนต์ได้จริงหรือ ทั้งที่ความจริงแล้ว ครั้งแรกที่เครื่องยนต์ชนิดจุดระเบิดด้วยการอัดอากาศ หรือเครื่องยนต์ดีเซลที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยรูดอล์ฟดีเซล นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน และนำออกแสดงต่อสาธารณะที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสเมื่อ 150 ปีก่อนนั้น เดินเครื่องด้วยน้ำมันจาก “ถั่วลิสง”

เครื่องยนต์ขนาดนี้ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ ให้ทำงานได้โดยใช้น้ำมันดิบจากพืชโดยตรง ไม่ต้องทำการปรับเปลี่ยนใด ๆ ทั้งสิ้น กระทั่งถึงขนาดที่ในเวลานั้น รัฐบาลฝรั่งเศสมีแนวคิดจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำมันถั่วลิสงเพื่อลดการนำเข้าถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันสามารถกลั่นน้ำมันดีเซล ซึ่งเดิมถือว่าเป็นน้ำมันคุณภาพไม่ดีนัก ราคาถูก แต่มีความใสกว่าน้ำมันจากพืช เครื่องยนต์จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการใช้น้ำมันจากปิโตรเลียมเป็นหลัก การใช้น้ำมันจากพืชเติมเครื่องยนต์จึงถูกลืมเลือนไปโดยปริยาย จวบจนเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคที่ปิโตรเลียมกำลังเหลือปริมาณน้อยลงและได้รับผลกระทบจากวิกฤตภาวะโลกร้อน

ในพ.ศ. 2544 เมื่อโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาสามารถผลิตแอลกอฮอล์ 99.5% ได้แล้ว การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้เสนอโครงการผลิต “ดีโซฮอล” หรือ “น้ำมันดีเซลผสมอัลกอฮอล์” เพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล ในกระบวนการผลิตดีโซฮอล์ต้องใช้สาร “อิมัลซิไฟเออร์” เพื่อให้น้ำมันดีเซลกับแอลกอฮอล์จับตัวกันได้โดยผสมในสัดส่วนแอลกอฮอล์ 13% อิมัลซิฟายเออร์ 2% และน้ำมันดีเซล 85 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดหวังว่าจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลลงได้

จากนั้น มีการนำดีโซฮอล์ไปทดลองใช้กับรถแทรกเตอร์ พบว่ายังมีข้อจำกัดหลายอย่าง กล่าวคือ ต้องนำเข้าสารอิมัลซิไฟเออร์จากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนต้นทุนสูง และเมื่อเติมแล้วต้องใช้ทันที หากทิ้งไว้นานเกินไปน้ำมันดีเซลกับแอลกอฮอล์จะแยกตัวออกจากกัน ทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องยนต์ได้ โครงการนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

การได้มาซึ่งไบโอดีเซล

ทรงสนพระทัยในการนำน้ำมันพืชจากพืชพลังงานมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ซึ่งผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้รับสนองพระราชดำริ โดยให้มีการศึกษาข้อมูล พบว่าน้ำมันจากพืชสามารถใช้กับเครื่องยนต์ได้ แต่ต้องมีกระบวนการกำจัดยางเหนียว (Gum) ในน้ำมันเสียก่อน

ทั้งนี้ จากการศึกษาเพื่อนำน้ำมันจากพืชชนิดต่าง ๆ มาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง พบปัญหาว่าน้ำมันพืชมีค่าความหนืดสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม ทำให้การแตกตัวของอนุภาคของน้ำมันเชื้อเพลิงในห้องเผาไหม้เป็นไปได้ไม่ดีนัก ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ลดลง แต่ปัญหาเรื่องความหนืดนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำปฏิกิริยาทรานเอสเทอริฟิเคชัน ด้วย “ด่าง” ซึ่งเป็นการนำน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ซึ่งมีกรดไขมันเป็นส่วนประกอบไปทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ โดยใช้ด่างเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

ไบโอดีเซลซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการนี้ จะมีค่าความหนืดอยู่ในเกณฑ์สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้การแตกตัวของอนุภาคน้ำมันเชื้อเพลิงดีขึ้น จึงไม่มีปัญหาในการจุดระเบิด เป็นการสันดาปที่สมบูรณ์ จึงไม่ก่อให้เกิดควันดำและสามารถใช้งานกับเครื่องยนต์ของรถได้เป็นอย่างดี

รางวัลเหรียญทองสิ่งประดิษฐ์นานาขาติ

โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์มเป็น 1 ใน 3 ผลงานของพระองค์ท่านร่วมกับ “การเกษตรทฤษฎีใหม่” และ “โครงการฝนหลวง” ที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตส่งไปร่วมแสดงในงานแสดงสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ Brussels Eureka 2001 ณกรุง brussels ประเทศเบลเยียมและได้รับรางวัลเหรียญทอง

ใน พ.ศ. 2547 มีการก่อสร้างอาคารไบโอดีเซลขึ้นภายในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อผลิตไบโอดีเซลด้วยกระบวนการเอทิลทรานเอสเทอริฟิเคชัน คือ โดยใช้วัตถุดิบคือน้ำมันพืชใช้แล้วจากส่วนพระเครื่องต้นโซดาไฟและเอทิลอัลกอฮอล์ 99.5% ที่ผลิตได้

โครงการผลิตไบโอดีเซลนี้ ได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านอุปกรณ์การผลิต และเทคโนโลยีโดยหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน จนกระทั่งสามารถผลิตไบโอดีเซลคุณภาพดี ใช้เติมรถยนต์ดีเซลของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา จำนวนหนึ่ง รวมไปถึงใช้กับเครื่องกำเนิดไอน้ำของโรงแอลกอฮอล์ด้วย

นอกจากนี้ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ยังได้ดำเนินการทดลองวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และร่วมกับนักวิจัยสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เช่นจุ ฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตไบโอดีเซลจากพืชชนิดอื่น ๆ ได้แก่ การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันสบู่ดำ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการศึกษาวิจัยกระบวนการผลิตไบโอดีเซลที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาแบบของแข็ง เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำเสียของกระบวนการผลิตอีกด้วย

น้ำมันที่ไม่ใช่แค่น้ำมัน

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไบโอดีเซลได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง เป็นก้าวแรกของทางออกจากวิกฤตน้ำมันที่มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจและปิโตรเลียมที่ลดปริมาณลงไปทุกวัน

อาจกล่าวได้ว่า เบื้องหลังการค้นคว้าวิจัยเรื่องไบโอดีเซล ไม่ใช่แค่เพียงแค่การมองหาพลังงานทางเลือกเพื่อบรรเทาปัญหาด้านพลังงานให้กับประชาชน และเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคตเท่านั้น แต่แฝงไว้ซึ่งปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่ลึกซึ้ง และเป็นไปได้จริง ควรค่าแก่การนำไปปฏิบัติตาม คือ การปรับชีวิตให้พอดี บนพื้นฐานของความพอเพียง เพราะถึงแม้เราจะสามารถจะปลูกพืชพลังงานทดแทนได้ แต่หากพฤติกรรมการบริโภคไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังคงฟุ่มเฟือยอยู่ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในรูปแบบอื่นตามมาในอนาคตเช่นเดิม

“…ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มีแต่ต้องขยัน หาวิธีที่ทำให้เชื้อเพลิงเกิดใหม่เชื้อเพลิงที่เรียกว่าน้ำมันนั้นมันจะหมดภายในไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีก็หมด… ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทนเราก็เดือดร้อน…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ
4 ธันวาคม 2548

แกลเลอรี่ภาพ “ ไบโอดีเซลในประเทศไทย”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

กระทรวงพลังงาน. (2551). พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย. ธรรมศักดิ์, จ., กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, & โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา. (2554). 50 ปีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ๓ ทศววรษ ศูนย์การศึกษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.