จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม กินพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 8,500 ไร่ มีการตัดป่าในฤดูฝนจนมีการชะล้างเนื่องจากน้ำเซาะจนเหลือแต่หินและกรวด เป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ดินเป็นดินกรด ส่วนใหญ่แห้งแล้ง สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังเสื่อมโทรม ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างยิ่ง ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้ศึกษา ทดสอบ หาวิธีและรูปแบบในการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้คงความอุดมสมบูรณ์

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ กว่า 40 ปีแล้วที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำการศึกษาวิจัย พัฒนารูปแบบระบบชลประทาน แหล่งน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาป่าไม้และฟื้นฟูผืนดิน

การพัฒนาตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ เป็นการศึกษารูปแบบในการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำ คือ การพัฒนาและอนุรักษ์ “ป่าต้นน้ำลำธาร” เป็นต้นทาง ส่วนปลายทางเป็นการพัฒนา “การประมง” ระหว่างทาง เป็นการพัฒนา “การเกษตร” และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นับเป็นการพัฒนาลุ่มน้ำที่สัมพันธ์เชื่อมโยงด้านกายภาพ

จาก“พื้นที่สูง” ถึง “พื้นที่ลาด” และ
จาก “พื้นที่ราบ ถึง “พื้นที่ลุ่มและแหล่งน้ำ”

มีรูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อการใช้สอยของราษฎรที่อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่ โดยคนและชุมชนสามารถพัฒนาตนเองให้มีวิถีชีวิตที่พอเพียงอย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ
ทางศูนย์ฯ มีการร่วมฝึกอบรมชาวบ้าน ให้เห็นถึงผลเสียของการตัดไม้ทำลายป่า และให้ความรู้เกี่ยวกับไฟป่า ร่วมส่งเสริมงานการเกษตร และส่งเสริมอาชีพในกลุ่มแม่บ้าน ทำให้ห้วยฮ่องไคร้ในวันนี้ กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง

เที่ยวชม“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”

ในวันนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้รับการขนานนามว่าเป็นอีกหนึ่ง “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” หรือ “สวนเพื่อการศึกษา” ผู้เข้าเยี่ยมชมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผืนป่าที่เข้าใจง่าย ได้สัมผัสถึงจิตวิญญาณของป่าใหญ่ด้วยการเดินป่าตามลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ เพื่อชมป่าเต็งรังเคียงข้างกับป่าเบญจพรรณที่อุดทสมบูรณ์ตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่จัดทำไว้ จากนั้น สามารถเข้าชมวิถีฟาร์มสไตล์ภาคเหนือ อาทิ การทำปศุสัตว์ เลี้ยงโคนม สัตว์ปีก รวมถึงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบนานาพันธุ์ ด้วย

การพัฒนาป่า 3 วิธี

การพัฒนาป่า 3 วิธี
• ใช้ “ระบบชลประทาน” โดยการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำ วางท่อน้ำไปตามแนวระดับสันเขา และเจาะรูท่อให้น้ำหยดไหลลงสู่ผืนป่าเป็นระยะ และมีการส่งน้ำโดย “คลองไส้ไก่” ไปตามแนวระดับให้น้ำไหลเรื่อย ๆ แล้วกระจายแยกน้ำออกเป็น “ระบบคูคลองก้างปลา” เพื่อกระจายความชุ่มชื้นลงสู่ผืนป่าเป็นบริเวณที่กว้างขวางยิ่งขึ้น
• สร้าง “ระบบฝายต้นน้ำลำธาร” ในบริเวณพื้นที่ไม่สามารถรองรับน้ำด้วยระบบชลประทานได้ และเป็นบริเวณที่มีร่องน้ำร่องห้วยตามธรรมชาติ ใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เช่น ฝายไม้ไผ่ ฝายที่สร้างโดยเศษไม้ ปลายไม้ หินในห้วย โดยสร้างกั้นร่องน้ำ-ร่องห้วยเป็นระยะ จากด้านบนของพื้นที่สูง ลงสู่ด้านล่างของพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อชะลอการไหลของน้ำไม่ให้เกิดความรุนแรงในการชะล้างหน้าดิน และไหลออกนอกพื้นที่ลุ่มน้ำไป
• พัฒนาด้วย “ระบบน้ำฝนตามธรรมชาติ” ในบริเวณพื้นที่สูงบนสันเขา และพื้นที่สูงที่ไม่สามารถพัฒนาป่าได้ด้วยวิธีที่ 1 และ 2 จะดำเนินการพัฒนาแม่ไม้ธรรมชาติให้เป็นแม่ไม้ที่สมบูรณ์ สามารถผลิต “เมล็ดไม้” โปรยกระจายพันธุ์ลงสู่พื้นที่ด้านล่างตามธรรมชาติ และปลูกไม้ที่ไม่ผลัดใบเพื่อให้ป่ามีสีเขียวอยู่ตลอดเวลา

ปลูกไม้ 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง

ดำเนินการในบริเวณป่าที่มีสภาพเสื่อมโทรม ต้องปลูกไม้ทดแทนเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า ปลูกไม้เพื่อใช้สอย และไม้เชื้อเพลิง และเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ ความชุ่มชื้น ทำให้เกิดเป็นประโยชน์อย่างที่ 4 คือ เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สมบูรณ์

ฝายต้นน้ำลำธาร (check dam)

เป็นสิ่งก่อสร้างขวางหรือกั้นทางน้ำ มักจะกั้นลำห้วย-ลำธารขนาดเล็ก ในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ให้สามารถดักตะกอนอยู่ได้ หากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง สามารถกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้มากวิธีการหนึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยลดความรุนแรงของการเกิดไฟป่า ด้วยการสร้างระบบควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก (wet fire break) ฝายต้นน้ำลำธารมี 3 แบบ ได้แก่

•   แบบท้องถิ่นหรือ “ฝายแม้ว”
•   แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร
•   แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก

ห้องวิจัยธรรมชาติ

ศูนย์มีงานวิจัยทั้งหมดประมาณ 394 เรื่อง แบ่งเป็น 7 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาป่าไม้ การพัฒนาที่ดิน การทดสอบการปลูกพืชและเกษตรกรรมแบบประณีต การพัฒนาปศุสัตว์และโคนม การพัฒนาการประมง การอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์กบ การศึกษาวิจัยส่งผลให้สามารถพลิกสภาพพื้นที่เสื่อมโทรมของศูนย์ฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและนิเวศวิทยาจนเห็นได้ชัด มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นทุกปี และมีอุณหภูมิเฉลี่ยลดลงกว่า 2 องศา

ป่าไม้คือชีวิต

จากสภาพป่าเดิมที่เป็นป่าเต็งรังเสื่อมโทรม ปัจจุบันชนิดของป่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จากป่าเต็งรังสู่ป่าเบญจพรรณ โดยสภาพป่าเต็งรังจากเดิมอยู่ที่ระดับร้อยละ 53 ปัจจุบันเหลือร้อยละ 22 ไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่โครงการ ชนิดของป่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สภาพป่าเบญจพรรณจากเดิมที่มีอยู่เพียงร้อยละ 16 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 ความหนาแน่นของต้นไม้เพิ่มขึ้นจาก 100 ต้นต่อไร่ เป็น 200 ถึง 240 ต้นต่อไร่ มีชนิดของพันธุ์ไม้จากเดิม 34 ชนิดเพิ่มขึ้นเป็น 60 ถึง 80 ชนิด นอกจากนี้ โครงสร้างเรือนยอดไม้จากเดิมมีโครงสร้างชั้นเดียวและมีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ปัจจุบัน มีทั้งไม้พื้นล่าง ไม้พุ่ม ไม้ขนาดกลาง และไม้ขนาดสูงถึง 15 เมตร

นอกจากนี้ ยังพบกล้วยไม้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจากเดิมพบประมาณ 24 ชนิด เป็น 58 ชนิด เช่น พญาไร้ใบ เรื่องผึ้ง กล้วยไม้ดิน ช้างผสมโขลง กุหลาบหนู

มีการพบสัตว์ป่าคืนถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยหลายชนิด มีนกประจำถิ่นจำนวน 94 ชนิด นกอพยพจำนวน 28 ชนิด นกที่พบเห็นได้ง่าย 22 ชนิด สัตว์ป่าชนิดอื่น เช่น ไก่ป่า หมูป่า กระต่ายป่า เก้ง แลน กระรอก งู หมาป่า และมีการพบนกยูงไทยคืนถิ่นที่มีการกระจายพันธุ์ประมาณ 100 ตัว

อยู่ได้เพราะดินดี

สำหรับป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ในฤดูแล้งจะมีการผลัดใบเรียกว่า “การคืนธาตุอาหารให้แก่พื้นดิน” จากการศึกษาพบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์จะมีการร่วงหล่นของใบไม้มากที่สุดประมาณ 600-700 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีปัจจุบัน การที่ไฟป่าลดลงเพราะมีแนวป่าเปียก ทำให้ปริมาณธาตุอาหารในดินจากเดิมที่มีไม่เกินร้อยละ 1 ของน้ำหนักดิน เพิ่มเป็นร้อยละ 3-4 ของหน้าดิน เพราะการร่วงหล่นทับถมสลายของใบไม้ทำให้ธาตุอาหารในดินเพิ่มขึ้น

“น้ำ” หัวใจของการพัฒนา

ในช่วงเริ่มต้น ศูนย์ฯ ผันน้ำจากลุ่มน้ำ “แม่ลาย” เพื่อเข้ามาเติมในอ่างเก็บน้ำในศูนย์ฯ ปัจจุบัน การผันน้ำลดปริมาณลง และยังพบว่า ร่องน้ำห้วยธรรมชาติที่เคยแห้งแล้งในฤดูแล้ง ปัจจุบันมีน้ำไหลในลำห้วยยาวนานขึ้น บางแหล่งมีน้ำไหลตลอด โดยเฉลี่ยมีระยะเวลายาวนานมากขึ้นจาก 5 เดือนเป็น 8 เดือน

ขยายผลการศึกษาสู่ชาวประชา

ศูนย์ฯ ได้ขยายผลการศึกษาต้นแบบต่าง ๆ สู่ประชาชนโดยรอบตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531 ด้วยการสาธิตและส่งเสริม เผยแพร่การศึกษาทดลองวิจัยที่ได้ผลแล้วและสามารถนำไปปฏิบัติได้ เช่น โคขาวลำพูน ประมงน้ำไหล กบบูลฟร็อก และเห็ดหอม เป็นต้น ทำให้ประชาชนโดยรอบ จำนวน 18 หมู่บ้าน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 40,000 บาทต่อคน ต่อปี เป็น 60,000 บาทต่อคน ต่อปี

“…เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2525 ไปตรวจเขื่อนห้วยฮ่องไคร้ตอนล่าง ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับช่วยราษฎรในบริเวณสหกรณ์สันกำแพง ได้ปรึกษากับ นายทินกร คมกฤต ผู้เชี่ยวชาญปศุสัตว์ เรื่องลู่ทางที่จะใช้บริเวณเหนือเขื่อนสำหรับการเลี้ยงโคนม เขาบอกว่ามีแต่หิน อาจเลี้ยงได้สัก 2-3 ตัวเท่านั้น ไม่คุ้มค่าลงทุน ครั้งนั้นได้คิดว่าถ้าได้พื้นที่นั้นมา จะสามารถทำให้คนอิจฉาภายใน 5 ปี…”

ปฐมพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจาก
พระราชดำริ
เอกสารพระราชทาน

แกลเลอรี่ภาพ “ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงใหม่”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

กลุ่มนโยบายพิเศษ. (2562, March 8). องค์ความรู้เรื่อง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้”. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. เมื่อ เมษายน 22, 2565, จาก https://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/98
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ๓ ทศววรษ ศูนย์การศึกษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2561). ผลสำเร็จจากองค์ความรู้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2560.