เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าโปร่ง คนมักไปตัดไม้สำหรับทำฟืนและใช้พื้นที่สำหรับทำการเกษตร ป่าไม้ที่ถูกทำลายไปมาก จึงไม่มีน้ำในหน้าแล้ง น้ำไหลแรงในหน้าฝน มีการชะล้าง (erosion) ดินผิว (top soil) บางลงและเกลืออยู่ข้างใต้จะขึ้นเป็นหย่อม ๆ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสกลนคร ได้ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ทั้งหมดจำนวน 284 เรื่อง แบ่งเป็น ด้านการพัฒนาป่าไม้ การพัฒนาประมง การพัฒนาปศุสัตว์ การพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัว การพัฒนาเกษตรกรรม กิจกรรมที่เกี่ยวกับข้าว กิจกรรมหม่อนไหมกิจกรรมพืชสวน กิจกรรมเกษตรผสมผสาน และกิจกรรมเพาะเห็ด

สร้างแหล่งน้ำ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้พิจารณานำน้ำจาก “อ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่” มาสนับสนุนพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ ยังมีการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำฝน เนื่องจากสภาพป่าธรรมชาติส่วนมากเป็นป่าเต็งรัง ทำให้การเก็บกักน้ำไม่ค่อยดี จึงต้องทำให้ป่ามีความชุ่มชื้นและสมบูรณ์มากขึ้น ในปี 2549 พบว่า บริเวณป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น จากที่เคยแห้งแล้งในฤดูแล้ง ปัจจุบันมีน้ำไหลในลำห้วยและฝ่ายต่าง ๆ ยาวนานมากขึ้นและบางแห่งมีน้ำกักเก็บตลอดปี

เพิ่มป่าไม้

ศูนย์สามารถฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ปลูกรักษาป่าธรรมชาติ ปลูกป่าทดแทน และควบคุมป้องกันไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบกว่า 11,000 ไร่ จนทำให้ผืนป่ากลับคืนมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาก สามารถแก้ปัญหาและลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ดีในระดับหนึ่ง เป็นการเกื้อกูลต่อระบบนิเวศโดยรวม

พัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน

มีการทดสอบและปรับปรุงบำรุงดินโดยอาศัยวิธีการที่ง่ายและเหมาะสมกับท้องถิ่น เกษตรกรสามารถนำไปใช้ปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้หลายวิธี เช่น การใช้ปุ๋ยหมักในการปรับปรุงบำรุงดิน การเพิ่มแร่ธาตุในดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว การปรับรูปแปลงนาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว การพัฒนาพื้นที่ดินลูกรัง การปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน

จุดเด่นที่ปศุสัตว์

ศูนย์ได้ศึกษาหาพันธุ์ในการเลี้ยงสัตว์-อาหารสัตว์ และการจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์แก่ประชาชนในพื้นที่ พันธุ์สัตว์หลัก ๆ ที่ดำเนินการศึกษา ได้แก่
• สุกรสายพันธุ์ “ภูพาน” พัฒนาจากจุดเด่นของสุกร 3 สายพันธุ์คือ พันธุ์เหมยซาน พันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ดูร็อกเจอร์ซี่ ได้สุกรสายพันธุ์ภูพานที่มีความสมบูรณ์ และมีคุณลักษณะที่ตรงตามความต้องการของเกษตรกร คือ มีขนาดกะทัดรัด ให้ลูกดก เลี้ยงง่าย มันน้อย และเนื้อแดงมาก ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทนต่อโรค
• ไก่ดำสายพันธุ์ภูพาน มีลักษณะคล้ายไก่พื้นเมือง ขนดำ หนังดำ กระดูกดำ สามารถเลี้ยงภายใต้ระบบการเลี้ยงแบบเดิม ๆ ที่สร้างโรงเรือนแบบง่าย ๆ หรือปล่อยตามใต้ถุนบ้าน ไม่ต้องเพิ่มทุนหรือใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงที่ซับซ้อน สามารถสร้างรายได้มากกว่าไก่เลี้ยงทั่วไป 2-3 เท่าตัว

ไก่ดำภูพาน

มีการพัฒนาและวิจัยขึ้นบนพื้นฐานของความต้องการของคนไทยในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น และเน้นหลักการป้องกันโรคมากกว่าการรักษา “ไก่ดำ” จัดอยู่ในกลุ่มอาหารเพื่อการบำรุงร่างกาย มีคุณสมบัติในการป้องกันโรค ในไก่ดำภูพานจะมี “สารเมลานิน” (Melanin) มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งและโรคต่าง ๆ ทำให้ไก่ดำเป็นอาหารที่เหมาะในการบำรุงสุขภาพผู้ป่วย คนสูงอายุ สตรีมีครรภ์ และสตรีหลังคลอดบุตร เมื่อนำไปตุ๋นร่วมกับเครื่องยาจีนยังมีคุณสมบัติในการเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของร่างกายอีกด้วย

โคเนื้อ “ทาจิมะ” ภูพาน

เนื้อจากญี่ปุ่นนี้ ถูกนำมาเลี้ยงในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2531 โดยการน้อมเกล้าฯ ถวายจากสมาคมผู้เลี้ยงโควากิว (Wagyu) แห่งเมืองโอซาก้า แด่กรมสมเด็จพระเทพฯ ต่อมา ได้ทรงพระราชทานต่อให้กรมปศุสัตว์นำไปเลี้ยงเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายพันธุ์ในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการทดสอบการขุนโค “ทาจิมะ” เพื่อผลิตเนื้อคุณภาพสูง โดยการประกอบอาหารและชนิดอาหารตามรูปแบบการขุนแบบญี่ปุ่น ปัจจุบันสามารถขยายพันธุ์ได้และได้เนื้อโคขุนคุณภาพที่มีเนื้อและไขมันใกล้เคียงกับเนื้อโคจากญี่ปุ่น

ปลานิลแดงกับเป็ดบาบาลีลูกผสม

เป็นรูปแบบการเลี้ยงสัตว์น้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เนื่องจากการเลี้ยงแบบผสมผสานระหว่างปลานิลแดงกับเป็ดบาบาลีลูกผสมจะลดการเสี่ยงการขาดทุนจากการเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว ส่วนปลานิลแดงนั้นเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตได้ดี ทนต่อโรคและให้ผลผลิตสูง ทั้งในการเลี้ยงแบบผสมผสานและการเลี้ยงแบบอื่น ๆ

เกษตรคู่เทคโนโลยี

มีการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง รูปแบบต่าง ๆ ทางด้านการเกษตรและเทคโนโลยีแบบใหม่ตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้แก่เกษตรกร อาทิ

• ข้าวพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและเป็นที่นิยมของเกษตรกรคือกอขอ 6 และ ดอกมะลิ 105 สำหรับเข้าไร่ได้แก่ ซิวแม่จันและสกลนคร 69
• พันธุ์ไม้ผลที่เหมาะสมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นมะม่วงแก้วน้อยหน่าลิ้นจี่พันธุ์ นพ. 1 และพันธุ์ฮงฮวย เงาะโรงเรียน ลําไยพันธุ์อีดอ และพันธุ์สีชมพู
• ยางพาราพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพดินและลักษณะภูมิอากาศของภาคตะวันออกเฉียง เหนือคือ PR 225 PRIM 600 และ GT 1 ซึ่งส่งผลเทียบเท่าผลผลิตน้ำยางของทาง ภาคใต้
• การแปรรูปถั่วเขียวเป็นผลิตภัณฑ์วุ้นเส้น
• ศึกษาการเจริญเติบโตของสายพันธุ์เห็ดขอนขาวซึ่งเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดี
• ศึกษาการปลูกข้าวที่ปลอดภัยจากสารเคมีโดยใช้ปุ๋ยธรรมชาติ

ประมงพัฒนา

ศึกษาและพัฒนาประมงน้ำจืดอย่างถูกวิธี เผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานร่วมกับสุกร การเลี้ยงปลาร่วมกับไก่ในครัวเรือน การสาธิตการขยายพันธุ์ปลานิล ปลาตะเพียน ปลานวลจันทร์ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ราษฎร และปล่อยในแหล่งน้ำชุมชนสำหรับเป็นอย่างอาหารที่สมบูรณ์

อ่างเก็บน้ำร่วมพัฒนา

มีการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำชลประทานจำนวน 11 อ่าง เพื่อใช้ในการศึกษาและพัฒนาการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ความรู้ด้านวิชาการและฝึกอบรมให้เกิดความชำนาญในการปฏิบัติ ให้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบและการเป็นเจ้าของร่วมกัน เป็นแนวทางในการพัฒนาและสร้างกลุ่มผู้ใช้น้ำให้เข้มแข็งและยั่งยืน

ป้องกันรักษาป่าไม้

ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์จากการถูกทำลายด้วยการบุกรุกตัดไม้และเผาป่ามีการแต่งตั้งคณะทำงานป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าในเขตพื้นที่ป่าไม้

ตั้งกลุ่มอาชีพในครัวเรือน

เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรเป็นหลัก โดยได้ให้ความช่วยเหลือราษฎรจำนวน 22 หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ให้สามารถใช้เวลาว่างประกอบอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน เพื่อผลิตของใช้ในครอบครัวขึ้นใช้เอง หรือผลิตเป็นสินค้าออกจำหน่าย เพื่อเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ตนเอง
มีการจัดกองทุนกลุ่มอาชีพในครัวเรือนเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพในครัวเรือนต่าง ๆ เช่น กลุ่มอาชีพทำน้ำยาสมุนไพรภูพานพรรณ กลุ่มอาชีพการทอผ้าประกอบเส้นใยพืช (กกผสมฝ้าย) กลุ่มอาชีพทอผ้าไหมแกมฝ้ายด้วยกี่กระตุก กลุ่มอาชีพทอผ้าไหมมัดหมี่ด้วยกี่พื้นเมือง กลุ่มอาชีพทอผ้าย้อมคราม ทำผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช (ใบเตย) ทอผ้าทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ถ้าผ้าสี่ดขาลายดอกแก้ว ผ้าฝ้ายผ้าห่ม 4 ตะกอ กลุ่มอาชีพทำดอกไม้จันทน์ดอกไม้จากรังไหม

พัฒนาศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

ร่วมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ในเขตพื้นที่ชลประทานประจำอ่างเก็บน้ำจำนวน 10 ศูนย์ เพื่อให้เกษตรกรได้ที่ได้รับคัดเลือกจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นเสมือนตัวแทนของศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพานฯ ที่อยู่ในระดับพื้นที่ เป็นต้นแบบของการประกอบอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเกษตรกร

“…สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานนั้นเป็นการดำเนินงานในลักษณะย่อส่วนภูมิประเทศให้เล็กลงเพื่อที่จะมีการดำเนินงานในทุกๆด้านมาอยู่ในศูนย์โดยจะมีการศึกษาทดลองเผยแพร่การพัฒนาและเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้เชี่ยวชาญข้าราชการและประชาชนสามารถมาดูงานศึกษาและพัฒนาไปใช้ปฏิบัติได้ซึ่งมีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตโดยจะมีการศึกษาและพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้นการเพาะกล้าการปลูกการใช้ที่ดินให้เหมาะสมตลอดจนการแปรสภาพผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม…”

พระราชดําริ
9 พฤศจิกายน 2527

แกลเลอรี่ภาพ “ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสกลนคร ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ๓ ทศววรษ ศูนย์การศึกษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2561). ผลสำเร็จจากองค์ความรู้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2560.