ก่อนการจัดตั้งศึกษา ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่บริเวณนี้เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลขึ้นถึง พื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุก แผ้วถาง ไปใช้ประโยชน์ บางแห่งกลายเป็นบ่อปลาและบ่อกุ้ง เมื่อเริ่มดำเนินโครงการจากปี 2524 จนถึงปัจจุบัน สามารถฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนได้เพิ่มมากถึง 1,300 ไร่ จากที่เหลือเพียง 610 ไร่

งานวิจัยใช้พัฒนา

ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย จนเกิดผลแล้ว 134 เรื่อง สามารถนำไปประกอบการส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและการเกษตร และเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากร แบ่งเป็นงานวิจัยด้านต่าง ๆ ดังนี้

การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

54

เรื่อง

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

18

เรื่อง

การพัฒนาป่าไม้

24

เรื่อง

การพัฒนาการเกษตร

19

เรื่อง

การพัฒนาที่ดิน

10

เรื่อง

เศรษฐกิจสังคม

9

เรื่อง

นอกจากนี้ยังมีการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม นำไปสู่การรวมตัวเพื่อจัดตั้ง
“กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม” มีสมาชิกกว่า 198 คน มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง 1,025 ไร่ ร่วมบริหารระบบชลประทานน้ำเค็ม โดยมีศูนย์ฯ เป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนทางวิชาการ สมาชิกในกลุ่มสามารถผลิตกุ้งได้เฉลี่ย 971.13 เมตริกตันต่อปี มูลค่าประมาณ 101.48 ล้านบาทต่อปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีรายได้เฉลี่ย 279,191 และ รายจ่ายเฉลี่ย 104,701 บาทต่อครัวเรือน ต่อปี

ฟาร์มมาตรฐานสากล

มีการส่งเสริมการทำฟาร์มมาตรฐาน GAP/CoC ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ เกษตรกรสามารถดำเนินการปรับปรุงฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจนได้รับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าวจำนวน 1,177 ฟาร์มใน อำเภอนายายอาม และอำเภอท่าใหม่ การรับรองตามมาตรฐานนี้เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยสำหรับการส่งจำหน่ายในต่างประเทศ

ประมงชายฝั่งพื้นบ้านเพิ่มสภาพคล่อง

ชาวประมงสามารถจัดกลุ่มประมงจำนวน 7 กลุ่ม มีสมาชิก 205 คน เพื่อทำการประมงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถบริหารเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่มให้สมาชิกกู้ประกอบอาชีพประมงได้ โดยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ปัจจุบันทั้ง 7 กลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 2 ล้านบาท

เพิ่มชีวิตเพื่อสร้างชีวิต

มีการผลิตและปล่อยสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ปลากะพงขาว ปลากะรัง กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ และปูม้า ศูนย์ฯ ได้มอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน เกษตรกรและประชาชน น้ำปีละ 20 ล้านตัว เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นการเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำในบริเวณชายฝั่งทะเล และอ่าวคุ้งกระเบน เพื่อประโยชน์ในการทำการประมงพื้นบ้าน

ภารกิจถ่ายทอดองค์ความรู้

มีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมงให้นักเรียน เกษตรกร และประชาชน ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อประกอบอาชีพหลักและอาชีพรอง สาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความรู้ความเข้าใจ และเป็นทางเลือกที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ควบคู่งานบริการทางวิชาการ

ดำเนินการบริการวิชาการด้านการตรวจสอบคุณภาพน้ำและดิน เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตรวจวิเคราะห์โรค ตรวจสอบการปนเปื้อนของปัจจัยการผลิต และตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้างในผลผลิตสัตว์น้ำ เช่น กุ้งทะเล และให้คำปรึกษา แนะนำเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไปจนถึงการออกใบรับรองการตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้างให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 รายต่อปี

อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน

ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าคุ้งกระเบน และป่าอ่าวแขมหนู มีพื้นที่ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบน 1,650 ไร่ ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการอนุรักษ์ป่าชายเลนที่เหลือเพียง 610 ไร่ จัดสรรพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเล 728 ไร่ และส่งเสริมสนับสนุนฟื้นฟูโดยการปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมหลังแปลงนากุ้ง 312 ไร่ และในอ่าวคุ้งกระเบนประมาณ 378 ไร่ ทำให้ในปัจจุบัน ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบนมีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ป่าชายเลนทั้งสิ้น 1,300 ไร่

ส่งเสริมและขยายผลพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน

ศูนย์ฯ จัดให้มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนระยะทางประมาณ 1,700 เมตร ลัดเลาะเข้าไปในป่าชายเลน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนแก่ผู้ศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยว และได้ให้คำแนะนำวางรูปแบบการจัดสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 แห่ง ได้แก่

01

ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง
จังหวัดจันทบุรี

02

ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี
จังหวัดชลบุรี

03

ตำบลปากน้ำ อำเภอพระสมุทรเจดีย์
จังหวัด สมุทรปราการ

04

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ
จังหวัดเพชรบุรี

ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ศูนย์ฯ ดำเนินการฝึกอบรมและส่งเสริมราษฎรหมู่ 1 บ้านโขมงล่าง ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรีให้มีการจัดตั้ง “กลุ่มผู้นำการท่องเที่ยว” บริการแก่นักท่องเที่ยวเพื่อ “ชมหิ่งห้อย” บริเวณป่าชายเลน “อ่าวเกาะนก” สามารถบริการนักท่องเที่ยวแล้ว 1,200 คน

พัฒนากลุ่มอาชีพป่าไม้

มีการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และรายได้ของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบป่าชายเลนและป่าบก โดยดำเนินการในลักษณะ “คนอยู่กับป่า” ส่งเสริมการรวมกลุ่มจำนวน 30 กลุ่ม มีสมาชิก 292 ราย เพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากผลประสัก กลุ่มปลูกพืชสมุนไพรและผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อผลิตผักและผลไม้ กลุ่มอนุรักษ์พืชป่าและหัตถกรรมพื้นบ้าน กลุ่มปลูกต้นสำรองเพื่อการแปรรูป กลุ่มอนุรักษ์ต้นคลุ้ม-คล้า และหัตถกรรมพื้นบ้านงานจักสานเป็นต้น

เห็ดเศรษฐกิจขจัดความจน

ส่งเสริมให้มีการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ด้วยการฝึกอบรมและสนับสนุนเกษตรกรที่มีความสนใจในกิจกรรมเพาะเห็ดเศรษฐกิจ สามารถช่วยเกษตรกรดำเนินการเพาะเห็ดให้มีรายได้จากการเพาะ เห็ดนางฟ้า เห็ดขอนขาว และเห็ดยานางิ จำนวน 20,000 ถึง 200,000 บาทต่อปี เกษตรกรสามารถรวมตัวจัดตั้ง “กลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจครบวงจร” ที่ บ้านไร่เก่า หมู่ที่ 8 ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีสมาชิก 26 ราย ทำการผลิตและแปรรูปผลผลิตเห็ด สามารถดำเนินการอบรมการเพาะเห็ดแก่นักเรียนและเกษตรกรนอกพื้นที่ปีละ 200 ราย โดยนักเรียนสามารถผลิตเห็ดนางฟ้าเฉลี่ย 350 กิโลกรัมต่อโรงเรียนในห้วงเวลา 3 เดือน

ข้าวพันธุ์ดีและโรงสีชุมชน

มีการผลิตข้าวพันธุ์ดีและโรงสีชุมชน ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนข้าวพันธุ์พื้นเมือง โดยให้เกษตรกรผลิตข้าวพันธุ์ดี เช่น ข้าวหอมมะลิ 105 ปทุมธานี 60 เพื่อบริโภคในครัวเรือน และเหลือจำหน่ายเข้าสู่โรงสีข้าวชุมชน ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมผลิตข้าวพันธุ์ดีจำนวน 11 ราย ในพื้นที่ 930 ไร่

ผักออร์แกนิกปลอดสารพิษ

ส่งเสริมการผลิตพืชผักผลไม้ให้มีคุณภาพและปลอดภัยจากสารพิษ สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพและใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพรควบคุมแมลงศัตรูพืช มีเกษตรกรร่วมดำเนินการ 103 ราย สามารถผลิตน้ำหมักชีวภาพ 18,000 ลิตรและปุ๋ยหมักชีวภาพจำนวน 40 ตัน มีต้นทุน 1,500 บาทต่อตัน นำไปใช้ในกิจกรรมทางการเกษตร ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 11 ถึง 68 นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มเกษตรกรนอกพื้นที่ดำเนินงานของศูนย์ฯ เพื่อผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ได้แก่ ตำบลสองพี่น้อง ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ และตำบลข้างข้าม ตำบลวังใหม่ ตำบลวังโตนด อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรีจำนวน 693 ราย

แปรรูปการเกษตรและประมง

มีการส่งเสริมการแปรรูปการเกษตรและประมง ด้วยการสนับสนุนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ให้ผลิตสินค้าพื้นเมือง เช่น กะปิ น้ำปลา และจัดสร้างร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก่นักท่องเที่ยว ปัจจุบันมีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตกะปิและน้ำปลา 25 กลุ่ม มีสมาชิก 447 คน ในอำเภอนายายอาม และอำเภอท่าใหม่ มีการจัดสร้างร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์แม่บ้านเกษตร บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี สมาชิกกลุ่มแม่บ้านมีรายได้เสริมเฉลี่ย 2,000-4,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน

สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ประมงคุ้งกระเบนจนมีสมาชิก 188 คน เพื่อบริการด้านการกู้ยืมเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อการประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และบริการจัดซื้อและจำหน่ายปัจจัยการผลิตให้สมาชิกในราคาต่ำ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม เพื่อร่วมบริหารงานและพัฒนาระบบชลประทานน้ำเค็มสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 207 คน ฝึกอบรมการทำบัญชีขั้นพื้นฐานแก่เกษตรกรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ปีละ 30 ราย

การท่องเที่ยวเชิงพัฒนา

ส่งเสริมการบริหารจัดการพัฒนาอาชีพและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบ “การจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน” สนับสนุนการท่องเที่ยวและการศึกษาดูงาน ทำให้เกิดการศึกษาดูงานในรูปแบบ “การท่องเที่ยวเชิงพัฒนา” โดยผู้ศึกษาดูงานจะได้รับความรู้การประกอบอาชีพและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบ “ความรู้คู่ความเพลิดเพลิน” เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี

เกษตรกรเข้มแข็ง

มีการจัดตั้ง “กลุ่มศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” จำนวน 20 ศูนย์ ใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงานภูมิปัญญาชาวบ้านให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ และรวมกลุ่มพัฒนาจัดตั้งเป็น “สหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรม” เพื่อรวมร่วมผลิตและร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรกร โดยเฉพาะการผลิตน้ำสำรองพร้อมดื่ม เพื่อจำหน่าย 24,000 กระป๋องต่อเดือนมูลค่า 192,000 ถึง 240,000 บาท เช่น กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ กลุ่มผลิตผักและผลไม้อนามัย กลุ่มแปรรูปผลผลิตเกษตร กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้าน กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ โรงสีข้าวชุมชน เป็นต้น

งานทดลองวิจัยที่สำคัญ

การเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบปิดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
• การบำบัดน้ำทิ้งจากฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน
• การย้ายปลูกหญ้าทะเลชนิด Enhalus acoroides ในอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี

“…ให้พิจารณาพื้นที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลของจังหวัดจันทบุรี…”

“…ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตพื้นที่ชายทะเล…”

พระราชดำรัส
28 และ 30 ธันวาคม 2524

แกลเลอรี่ภาพ “ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ๓ ทศววรษ ศูนย์การศึกษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2561). ผลสำเร็จจากองค์ความรู้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2560.