เดิมพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นดินเปรี้ยว โดยจัดเป็นสภาพ “พรุ” เก่า ดินประกอบด้วยพืชที่ทับถมลงมาเป็นเวลานานและผสมกับน้ำทะเล มีผลให้ดินเป็นดินที่มี “แร่กำมะถัน” เมื่อสัมผัสกับอากาศกลายเป็น “ออกไซด์” และเมื่อผสมกับน้ำกลายเป็น “กรดกำมะถัน” (Sulfuric acid)

เมื่อปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้ก่อสร้าง “อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน” ที่ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส และ “อ่างเก็บน้ำเขาสำนัก” เพื่อเตรียมจัดตั้งศูนย์ฯ และ “หาน้ำมาเติม” จากคลองบางนารา เพื่อนำน้ำมาใช้ในกิจกรรมของศูนย์ฯ

ในปี พ.ศ. 2524 มีพระราชดำริจัดตั้งศูนย์ฯ ว่า

“…ด้วยพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปี ดินมีคุณภาพต่ำ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3 แสนไร่ เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน แม้เมื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่หมดแล้ว ยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้ เนื่องจากดินมีสารประกอบไพไรท์ ที่ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดังนั้น เห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนา โดยให้มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการที่จะพัฒนาพื้นที่ดินพรุในโอกาสต่อไป…”

วิจัยเพื่อพัฒนา

ศูนย์ฯ ดำเนินงานวิจัยทั้งหมดจำนวน 248 เรื่อง แบ่งเป็น ด้านงานพัฒนาที่ดิน วิชาการเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง การควบคุมปราบปรามโรคติดต่อ งานชลประทาน และอื่น ๆ

แกล้งให้ดินโกรธ

เป็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการเร่งดินให้เป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน แล้วศึกษาวิธีการปรับปรุงดินโดยการใช้น้ำล้างดิน การใช้หินปูนฝุ่นและใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไป สามารถปรับปรุงดินเพื่อปลูกพืชในดินเปรี้ยวจัด มีการจัดทำตำรา “คู่มือปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด” และใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดทั่วประเทศ

พันธุ์ข้าวทนเปรี้ยว

ส่งเสริมให้มีการปลูกพันธุ์ข้าวทนเปรี้ยว นำพันธุ์ข้าวมากกว่า 1,000 สายพันธุ์มาศึกษาคัดเลือกพันธุ์ โดยพันธุ์ข้าวทนดินเปรี้ยว 10 สายพันธุ์ที่คัดเลือกออกมา ได้แก่ ลูกแดง อัลซัมดูลละห์ ข้าวเขียว ดอนทราย รวงยาว ข้าวขาว ช่อจำปา ช้องนาง ขาวน้อย และสี่รวง

เกษตรทฤษฎีใหม่

การดำเนินการตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยยึดหลักบริหารจัดการดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กและรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถือเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตแบบ “พออยู่พอกิน” และรู้จัก “พอเพียง” โดยไม่เดือดร้อนด้วยการแบ่งพื้นที่ สำหรับที่ศูนย์แห่งนี้ ได้ทรงปรับสัดส่วนให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของภาคใต้ คือ 10: 20: 30: 40 กล่าวคือ 10% เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ 20% เป็นแหล่งน้ำ 30% เป็นนาข้าวและ 40 % เป็นพืชไร่พืชสวนและทำการปรับปรุงสภาพความเป็นกรดของดินด้วยหินปูนฝุ่นตัว

ปาล์มเพิ่มมูลค่า

การปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่พรุ เป็นการทดลองปลูกปาล์มน้ำมันในดินอินทรีย์ พบว่าสามารถขึ้นได้ดีในพื้นที่พรุ ทนสภาวะแห้งแล้งและน้ำท่วมได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น และให้ผลผลิตค่อนข้างสูง มีการจัดตั้งโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม ในช่วงแรกใช้วิธีทอดผลปาล์มในกระทะ ใช้เครื่องหีบแรงคน ต่อมา พัฒนาเครื่องยนต์แยกผลปาล์มจากทะลาย และการทอดผลปาล์มภายใต้ระบบสุญญากาศ ทำให้ในกระบวนการผลิตไม่มีน้ำเสียรวมทั้งมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มเติมด้วย

เกษตรแบบบูรณาการ

• มีการปลูกพืชแซมยาง เช่น การปลูกระกำร่วมกับยางพารา เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างระหว่างแถวยาง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยปลูกระกำหวานเมื่อปลูกยางแล้ว 4 ปี สามารถปลูกเป็นพืชร่วมกับยางได้ดี ให้ผลผลิตเมื่ออายุ 4-5 ปี ระกำหวานอายุ 10 ปีขึ้นไปจะให้ผลผลิตเฉลี่ยร้อยละ 10 กิโลกรัม สามารถเสริมรายได้ให้เกษตรกร 5,800 บาทต่อไร่ ต่อปี
• มีการใช้ประโยชน์จาก “ไม้เสม็ดขาว” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะพิเศษ สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่พรุได้ดีมาก เป็นไม้ที่สามารถนำส่วนต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ลำต้นใช้ในงานก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ ใบนำมากลั่นให้น้ำมันเขียว
• การพัฒนาพื้นที่พรุ ด้วยการจัดแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่พรุตามสภาพการใช้ดินและศักยภาพของพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตสงวน เขตอนุรักษ์ และ เขตพัฒนา โดย เขตสงวนและเขตอนุรักษ์อยู่ในความรับผิดชอบของงานป่าไม้ ส่วนเขตพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นเขตของนิคมสหกรณ์บาเจาะและนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง เป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะนำผลการศึกษาวิจัยไปถ่ายทอดเพื่อพัฒนาด้านการเกษตร
• ศูนย์ฯ สามารถร่วมพัฒนาหมู่บ้านรอบศูนย์ทั้งหมด 13 หมู่บ้านจำนวนประชากรประมาณ 114,258 คน พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 23,000 ไร่ ราษฎรมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายทั้งทำนาปลูกไม้ผลปลูกมะพร้าวปลูกพืชไร่พืชผักเลี้ยงปลาและอาชีพหัตถกรรม

ขยายผลด้วยศูนย์สาขา “จำนวน 4 ศูนย์ ”

ประกอบด้วย

01

ศูนย์สาขาที่ 1

โครงการสวนยางเขาตันหยง

02

ศูนย์สาขาที่ 2

โครงการพัฒนาหมู่บ้านปีแนมูดอ

03

ศูนย์สาขาที่ 3

โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์

04

ศูนย์สาขาที่ 4

โครงการหมู่บ้านโคกอิฐ-โคกใน บ้านยูโย

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมพัฒนาพื้นที่อื่น ได้แก่ พรุแฆแฆ จังหวัดปัตตานี รวมถึงการฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรในลุ่มน้ำบางนรา โดยปรับปรุงดิน สนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วนในลักษณะกองทุนหมุนเวียนเกษตรกร ในเขต 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอตากใบ และอำเภอเจาะไอร้อง และสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาสจำนวน 100 ราย

โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งสร้างงานให้กับราษฎรในพื้นที่ ผลิตอาหารของราษฎรในจังหวัดนราธิวาส ศึกษาและพัฒนาอาชีพทางการเกษตรกรของผู้ทำงานโครงการ ฝึกอบรม สาธิต และให้ความรู้แก่ราษฎรในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งมีทั้งสิ้น 9 ฟาร์ม ในอำเภอเมือง อำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอรือเสาะ อำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

“…เราเคยมาโคกอิฐ โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้น ๆ เขาทำ แต่ว่าเขาได้เพียง 5 ถัง 10 ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง 40-50 ถัง ก็ใช้ได้แล้ว ต่อไปดินก็ไม่เปรี้ยวแล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไร ๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น…อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมากที่ใช้งานได้ แล้วชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้…”

พระราชดํารัส
9 ตุลาคม 2535

แกลเลอรี่ภาพ “ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดนราธิวาส ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (ก.d.). โครงการ สถาบันราชประชาสมาสัย. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). เมื่อ 23 เมษายน, 2565, จากhttp://km.rdpb.go.th/Project/View/8632

สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค. (2552). 16 มกราคม วันราชประชาสมาสัย สถาบันรักษาโรคเรื้อน จากพระราโชบาย ร. 9. วารสารควบคุมโรค , ปีที่ 35(ฉบับที่ 3).

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.