การปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ การรู้จัดใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยพระปรีชาญาณอย่างชาญฉลาดให้เกิดประโยชน์แก่ปวงชนมากที่สุดยาวนานที่สุดและทั่วถึงกัน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแนะนำการปลูกป่าในเชิงผสมผสาน ทั้งด้านเกษตรวนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมไว้เป็นมรรควิธีปลูกป่าแบบลักษณะเบ็ดเสร็จนั้นไว้ด้วย

ปลูกไม้ให้พออยู่ พอกิน พอใช้ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า

“…ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม่หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวยผลไม้ก็ตามหรือเป็นฟืนก็ตามนั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือ เป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้…”

ในการปลูกป่า 3 อย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชาธิบายถึงประโยชน์ในการปลูกป่าตามพระราชดำริว่า

“…การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ…”

พระราชดำริเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ดำเนินการในหลายส่วนราชการ ทั้งกรมป่าไม้และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกแห่ง คือ การปลูกป่าใช้สอย โดยดำเนินการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วสำหรับตัดกิ่งมาทำฟืนเผาถ่าน ตลอดจนไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างและหัตถกรรมส่วนใหญ่ได้มีการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วเป็นสวนป่า เช่น ยูคาลิปตัส ขี้เหล็ก ประดู่ แค กระถินยักษ์ และสะเดา เป็นต้น

พออยู่

หมายถึง ไม้เศรษฐกิจปลูกไว้ทำที่อยู่อาศัย และจำหน่าย

พอกิน

หมายถึง ปลูกพืชเกษตรเพื่อการกินและสมุนไพร

พอใช้

หมายถึง ปลูกไม้ไว้ใช้สอยโดยตรงและพลังงาน เช่น ไม้ฟืน, และไม้ไผ่ เป็นต้น

ประโยชน์ต่อระบบนิเวศ

สร้างความสมบูรณ์และก่อให้เกิดความหลากหลาย ทางชีวภาพในพื้นที่ป่า

โครงการ 2 ประเภทใน “ประโยชน์ 4 อย่าง”

จากพื้นที่ทำกินอยู่เดิม ที่เป็นพื้นที่สวน ไร่หรือนา แบ่งพื้นที่ออกมาร้อยละ 30-50 โดยมีรูปแบบการจัดแบ่ง 3 รูปแบบ ดังนี้

01

พื้นที่จัดแบ่งปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง จัดแบ่งโดยใช้พื้นที่รอบแนวเขตพื้นที่ทำกิน ปลูกในพื้นที่ร้อยละ 30-50 ตามแนวเขตแดนพื้นที่ ทำกินพื้นที่จัดแบ่งปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

02

จัดแบ่งออกมาชัดเจนเป็นส่วน ปลูกในพื้นที่ร้อยละ 30-50 โดยจัดส่วนอยู่ด้านหนึ่งของพื้นที่จัดแบ่งเป็นริ้วหรือแถบตามความเหมาะสม

03

พื้นที่จัดแบ่งปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

ปลูกพันธุ์ไม้ให้เหมาะกับพื้นที่

เพื่อให้ได้องค์ประกอบซึ่งอำนวยให้เกิดความพออยู่ พอกิน พอใช้ สามารถเลือกพันธุ์ไม้ที่ปลูกเป็กลุ่ม ๆ ดังนี้ 1. ปลูก เพื่อให้เกิดความเพียงพอในด้านพออยู่ เช่น การปลูกต้นไม้สำหรับใช้เนื้อไม้มาปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เช่น ไม้ตะเคียนทอง, สัก, ยางนา, มะฮอกกานี, กระทินเทพา, จำปาทอง ฯลฯ

2.2. ปลูกเพื่อให้เกิดความเพียงพอในด้านการพอกิน เช่นการปลูกต้นไม้สำหรับใช้กิน เป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร เป็นเครื่องดื่ม ตลอดจนพืชที่ปลูกเพื่อการค้าขายผลผลิตเพื่อดำรงชีพ เช่น ไม้ผลต่าง ๆ ได้แก่ เงาะ, ทุเรียน, มังคุด, ลองกอง, มะม่วง ฯลฯ ไม้ที่ให้ผลผลิตเพื่อขาย เช่น ปาล์ม, มะพร้าว, ยางพารา ฯลฯ

2.3. ปลูกเพื่อให้เกิดความเพียงพอในด้านการพอใช้ เช่น ปลูกต้นไม้สำหรับใช้สอย ในครัวเรือน ใช้พลังงาน ใช้เป็นเครื่องมือต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพ ได้แก่ ไม้ไผ่, หวาย สำหรับจักสานเป็นเครื่องเรือน ของใช้ ฯลฯ ไม้โตเร็วบางชนิดที่ใช้เป็นไม้ฟืน,ถ่าน ไม้พลังงาน เช่น สบู่ดำ, ปาล์ม ฯลฯ ไม้ทำเครื่องมือการเกษตร ได้แก่ การทำด้ามจอบ, มีด, ขวาน, ทำรถเข็น, โต๊ะ, เก้าอี้, ตู้ ฯลฯ

“…การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
จากหนังสือ อันเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณ หน้า 21
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

แกลเลอรี่ภาพ “ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2550). อันเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.