เมื่อ ธ ทรงเสด็จไปที่ใด น้ำพระราชหฤทัยก็ชโลมให้ทุกข์ร้อนพลันมลายหายสิ้นไป เกิดเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านเขาหินซ้อน ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันนั้น มีราษฎรน้อมถวายที่ดิน จำนวน 264 ไร่เพื่อสร้างพระตำหนัก แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล เปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงตระหนักถึงปัญหาของราษฎร ทรงตอบกลับไปยังผู้ถวายที่ดินในครั้งนั้นว่า

“…ก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก แต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาบอกยินดี ก็เลยเริ่มทำในที่นั้น…”

ต่อมา ได้มีผู้ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก 497 ไร่ รวมกับพื้นที่สวนรุกขชาติและที่ดินพระราชทานส่วนพระองค์เนื้อที่ 655 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 1,895 ไร่ กลายเป็นปฐมบทของศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งแรกของประเทศไทย จากนั้นทรงให้ศึกษาหาแนวทางเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง

“เขาหินซ้อน” มาจากคำที่ถูกกล่าวขานตามลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเนินเขา มีหินขนาดน้อยใหญ่ทับซ้อนกันอยู่ทั่วไป ผืนแผ่นดินแห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และพืชพรรณนานาชนิด แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผู้คนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างไม่ระมัดระวัง เพียงไม่นาน ผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้กลับกลายเป็นพื้นดินที่เสื่อมโทรมคล้ายดั่งทะเลทราย แม้พืชที่ทนแล้งก็ยังมิอาจยืนต้นได้

ศูนย์การศึกษาแห่งนี้ผ่านวันเวลาจนก่อเกิดความสำเร็จ ถือเป็น “ต้นแบบ” การพลิกฟื้นผืนแผ่นดินครั้งยิ่งใหญ่ นำมาสู่ความสำเร็จอันอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เปิดประตูต้อนรับผู้ที่สนใจให้ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ในแหล่งท่องเที่ยวด้านการพัฒนาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ชมพูมิทัศน์ที่สวยงาม มีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จที่มีหน่วยงานมากกว่า 12 หน่วยงาน บูรณาการช่วยกันพัฒนาช่วยเหลือราษฎรให้บรรลุผลแห่งการพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์

หญ้าแฝก

ทรงพระราชทานแนวคิดว่า หญ้าแฝกช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และช่วยรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดิน เป็นเทคโนโลยีง่าย ๆ ที่เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองแบบประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ว่า

“…ให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาและพื้นที่อื่น ๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริและศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ…”

และมีพระราชดำรัสเพิ่มเติมบนสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำห้วยแจ๊คเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2540 ว่า

“…การปลูกหญ้าแฝกรอบแนวป่าไม้ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นจะช่วยให้ดินมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเมื่อใบไม้ย่อยสลาย ส่วนหญ้าแฝกที่ปลูกระหว่างไม้ยืนต้นจะไม่ตาย แต่ชะงักการเจริญเติบโตระยะหนึ่ง เมื่อมีการตัดไม้ออกจะเจริญได้อีกครั้ง…”

ทฤษฎีใหม่

“ทฤษฎีใหม่” เป็นแนวทางพระราชทานเพื่อการจัดการที่ดินและน้ำ สำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ถือครองขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการจัดแบ่งที่ดินเป็นสัดส่วน วางแผนการเพาะปลูกพืชและคำนวณน้ำกักเก็บให้พอใช้ เกษตรกรไทยมีพื้นที่ถือครองเฉลี่ยครอบครัวละ 10 ถึง 15 ไร่ ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ แหล่งน้ำ นาข้าว พืชผสมผสาน และโครงสร้างพื้นฐาน ในอัตราส่วน 30: 30: 30: 10

การพัฒนาพันธุ์สัตว์

“ทฤษฎีใหม่” เป็นแนวทางพระราชทานเพื่อการจัดการที่ดินและน้ำ สำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ถือครองขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการจัดแบ่งที่ดินเป็นสัดส่วน วางแผนการเพาะปลูกพืชและคำนวณน้ำกักเก็บให้พอใช้ เกษตรกรไทยมีพื้นที่ถือครองเฉลี่ยครอบครัวละ 10 ถึง 15 ไร่ ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ แหล่งน้ำ นาข้าว พืชผสมผสาน และโครงสร้างพื้นฐาน ในอัตราส่วน 30: 30: 30: 10

การพัฒนาประมง

มีการสาธิตการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดเพื่อปล่อยลงแหล่งน้ำและแจกจ่ายให้แก่ราษฎร รวมถึงการสาธิตการเพาะขยายพันธุ์ปลา โดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่หายากใกล้สูญพันธุ์ การเพาะพันธุ์กบนา การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงกบในกระชัง และการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม

การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

มีการส่งเสริมอาชีพด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเสริมรายได้ ทั้งการจักสาน ทอผ้า ทอเสื่อ ตีมีด การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ การให้สินเชื่อการเกษตร อบรมการทำบัญชีครัวเรือน ให้บริการสินเชื่อการเกษตร ให้บริการโรงสีข้าว จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสิรินธร เพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เตรียมความพร้อมของชุมชนเพื่อรองรับการพัฒนาอาชีพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ จัดตั้งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา เพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชน ทั้งหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพและวิชาชีพชั้นสูง การศึกษานอกระบบ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม รวมทั้งการบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม

“…กรมต่าง ๆ ก็บอกว่าแถวนี้ดินมันไม่ดี ใช้ไม่ได้ ไม่ควรจะทำโครงการ ไม่คุ้ม แต่ก็ได้พูดว่า ดินไม่ดีนั่นเองมีเยอะแยะในประเทศไทย ถ้าหากบอกว่าที่นี่ดินไม่ดี ไม่ช่วย ไม่ทำ ลงท้ายประเทศไทยทั้งประเทศจะกลายเป็นทะเลทรายหมด…”

“…ดินเลวอย่างไร ก็พัฒนาได้…””

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อแรกเริ่มจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

แกลเลอรี่ภาพ “ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ๓ ทศววรษ ศูนย์การศึกษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2561). ผลสำเร็จจากองค์ความรู้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2560.