วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมความตอนหนึ่งว่า

“…ควรพิจารณาสร้างฝายเก็บกักน้ำตามลำน้ำสาขาของห้วยฮ่องไคร้ โดยสร้างเป็นฝายแบบง่าย ๆ เช่น ฝายหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย และฝายแบบชาวบ้าน โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นช่วง ๆ ทั้งในเขตพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำชลประทาน และพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำฝน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาป่าไม้ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ต่อไป ควรเร่งการดำเนินงาน ปี พ.ศ. 2527 บางส่วน และภายในปีต่อ ๆ ไปตามความเหมาะสม…” และ

“…เป้าหมายหลักของโครงการฯ แห่งนี้ คือ การฟื้นฟูและอนุรักษ์บริเวณต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งมีสภาพแห้งแล้งโดยเร่งด่วน โดยทดลองใช้วิธีการใหม่ เช่น วิธีการผันน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำในระดับบนลงไปตามแนวร่องน้ำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นค่อย ๆ แผ่ขยายตัวออกไป สำหรับน้ำส่วนที่เหลือก็จะไหลลงอ่างเก็บน้ำในระดับต่ำลงไป เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรกรรมต่อไป ในการนี้ ควรเริ่มปลูกป่าทดแทนตามแนวร่องน้ำ ซึ่งมีความชุ่มชื้นมากกว่าบริเวณสันเขา ซึ่งจะทำให้เห็นผลโดยเร็ว นอกจากนั้น ยังเป็นการประหยัดกล้าไม้และปลอดภัยจากไฟป่าด้วย เมื่อร่องน้ำดังกล่าวมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้นลำดับต่อไป ก็ควรสร้างฝายต้นน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อค่อย ๆ เก็บกักน้ำไว้แล้วส่งต่อท่อไม้ไผ่ส่งน้ำออกทั้งสองฝั่งร่องน้ำ อันเป็นการช่วยแผ่ขยายแนวความชุ่มชื้นออกไปตลอดแนวร่องน้ำ…”

เริ่มต้นที่ห้วยฮ่องไคร้

รูปแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ “การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้อุดมสมบูรณ์” สามารถเกื้อหนุนผลิตน้ำลงสู่สายน้ำได้อย่างมีคุณภาพ สม่ำเสมอ มีปริมาณมากพอ และเป็นแหล่งผลิตปุ๋ยธรรมชาติไหลลงไปสู่พื้นที่การเพาะปลูก ทำให้เกิดการผลิตพืชพรรณธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ธาตุอาหารที่เหลือจะไหลลงสู่แม่น้ำ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดอาชีพประมงได้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาชนบทไว้ว่า

“การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ เป็นรากฐานของการพัฒนาการเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของชาวชนบทที่มีอยู่ประมาณ 80 % ของประชากร การพัฒนาการเกษตรกรรมนี้จะเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่เป็นรากฐานของความมั่นคงของประเทศ”

ฝายต้นน้ำลำธาร

ฝายต้นน้ำลำธาร หรือ Check Dam คือ สิ่งก่อสร้างขวาง หรือกั้นทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็น “ต้นน้ำ” หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหล ลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้มากวิธีการหนึ่ง

ทรง พระราชทานคำอธิบายว่า การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น

“…จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหมุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้ค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้น ในบริเวณนั้นด้วย…”

ส่วนรูปแบบและลักษณะ Check Dam นั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า

“…ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วย ตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะ ๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้างต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบเพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ…”

การก่อสร้าง Check Dam นั้นได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า

“…สำหรับ Check Dam ชนิดป้องกันไม่ให้ทรายไหลลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึกเพราะทรายลงมากจะกักเก็บไว้ ถ้าน้ำตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ได้ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกับทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไรไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป…”

การพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นได้พระราชทานแนวพระราชดำริว่า

“…ให้ดำเนินการสำรวจหาทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูงใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงและประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรงและโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบ ๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้…”

สำหรับประเภทของฝายต้นน้ำลำธารนั้น ทรงแยกออกเป็น 2 ประเภทดังพระราชดำรัส คือ

“…Check Dam มี 2 อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้ความชุ่มชื้นรักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่…”

จึงอาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้นประเภทแรก คือ ฝายต้นน้ำลำธาร หรือ “ฝายชะลอความชุ่มชื้น” ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็น “ฝายดักตะกอน” นั่นเอง

ฝายต้นน้ำลำธารแบบถาวร กึ่งถาวร และผสมผสาน

เนื่องจากบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารส่วนใหญ่ จะอยู่ในพื้นที่ดอยสูง ไม่มีเส้นทางถนนเข้าถึงได้ เป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ดังนั้น จึงทรงมีพระราชดำริให้ใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ มาใช้ในการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร เช่น เศษไม้ ปลายไม้ที่ล้มหมอนนอนไพร ซึ่งหมายถึงไม้ที่ล้มตายอยู่บริเวณนั้น หรือ ไม้ไผ่ที่มีอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือ หินที่มีอยู่ในลำห้วย นำมาใช้ในการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามรูปแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม เนื่องจากการขนย้ายวัสดุจากภายนอกขึ้นไปบนดอยบนเขา ต้องมีการลงทุนมาก หรือการตัดถนนขึ้นไปบนดอยบนเขาเพื่อขนวัสดุขึ้นไปก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร จะเป็นการทำลายต้นไม้ พืชพรรณ เกิดการสูญเสียความหลากหลาย และไม่คุ้มค่า

รูปแบบฝายต้นน้ำลำธาร จึงเป็นรูปแบบที่ประหยัดไม่ต้องใช้เงินงบประมาณในการซื้อวัสดุ หรืออาจจะมีการใช้วัสดุบ้างก็เป็นการลงทุนที่ไม่มาก และฝายต้นน้ำลำธารเป็นฝายตามภูมิปัญญาดั้งเดิมถ้าชุมชนทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการสร้างฝายต้นน้ำลำธารได้อย่างเข้าใจแล้ว ชุมชนก็สามารถดำเนินการได้โดยชุมชนเอง

โดยลักษณะของลุ่มน้ำ ซึ่งลักษณะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขา และมีร่องน้ำ ร่องห้วยตั้งแต่ร่องน้ำขนาดเล็ก ๆ ที่อยู่บนพื้นที่สูง ร่องน้ำขนาดเล็ก ๆ นี้จะมีน้ำไหลน้อยเมื่อไหลมารวมกันหลายร่องน้ำก็จะมีขนาดที่ใหญ่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อมีการไหลมารวมกันหลาย ๆ สายมากขึ้น ปริมาณน้ำก็จะมีมากขึ้น ขนาดร่องน้ำ ร่องห้วยก็จะมีขนาดใหญ่มากขึ้น ลักษณะการเกิดของลำห้วยสายหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำ จะมีลักษณะการเกิดจากการรวมตัวของร่องน้ำร่องห้วยแขนงที่มีขนาดเล็กที่อยู่ในลำดับแรก ๆ หรืออยู่บนพื้นที่สูงของลุ่มน้ำ ไหลมารวมกันเป็นกิ่งก้านสาขา จนกลายเป็นลำห้วยสายหลัก

รูปแบบฝายต้นน้ำลำธารได้ 3 รูปแบบ

01

ฝายผสมผสาน มีรูปแบบเหมาะสมกับร่องห้วยหรือลำห้วยแขนง

02

ฝายกึ่งถาวร รูปแบบที่มีความแข็งแรงมากขึ้น เหมาะสำหรับร่องห้วยที่มีขนาดใหญ่กว่าห้วยแขนง

03

ฝายถาวร รูปแบบที่แข็งแรง เหมาะสำหรับลำห้วยใหญ่ที่มีน้ำไหลแรง

จากแห้งแล้งกลายเป็นชุ่มชื้น

ผลสำเร็จจากการพัฒนาพื้นที่โดยใช้รูปแบบการทำฝายต้นน้ำลำธาร (Check Dam) จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไปฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำที่แห้งแล้งกลายเป็นแหล่งชุ่มชื้น ป่าต้นน้ำกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้ในหมู่บ้านได้อย่างพอเพียง และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอีกมากมาย ได้แก่

01

ชุมชนสามารถกักเก็บน้ำและสามารถนำน้ำที่จัดเก็บไว้จากการสร้างฝายต้นน้ำลำธารมาใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้

02

พื้นที่ป่ารอบ ๆ บริเวณที่สร้างฝายต้นน้ำลำธาร เริ่มอุดมสมบูรณ์ป่ามีความชุ่มชื้นตลอดปีมีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น

03

ความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้นทำให้ชุมชนมีแหล่งอาหาร เช่น เห็ด หน่อไม้ บอน ปู เขียด กบ ปลา และสมุนไพรต่าง ๆ ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น

04

ชุมชนมีการจัดตั้งโครงการป่าชุมชนเพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และจัดตั้งกฎระเบียบอนุรักษ์ป่าในหมู่บ้าน ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านเอง

05

ชุมชนมีการจัดตั้งระบบการบริหารและจัดการป่าชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การปลูกเสริมป่า การบำรุงรักษาป่า การทำแนวกันไฟ การจัดเวรยามตรวจป่า การสืบชะตาป่า จัดพิธีบวชป่า เป็นต้น

06

ชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายลุ่มน้ำและเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้การใช้ประโยชน์แบบพึ่งพิงป่าได้อย่างเกื้อกูล

07

เป็นแบบอย่างในการเรียนรู้ของชุมชนใกล้เคียง ได้ศึกษาผลการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารในพื้นที่ ส่งผลสำเร็จให้ได้รับรางวัลระดับประเทศซึ่งเป็นรางวัลชนะเลิศที่หนึ่งโครงการป่าชุมชน เช่นที่บ้านเสริมกลาง อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง จากรายการโลกสีเขียว ของช่อง 9 อ.ส.ม.ท.

08

ชุมชนสามารถพัฒนาพื้นที่จัดตั้งค่ายสิ่งแวดล้อมศึกษาให้เยาวชนและผู้สนใจ ได้เข้าไปเรียนรู้ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติล้อมสิ่งแวดล้อม เช่นที่บ้านป่าสักงาม ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยชุมชนเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้

09

เป็นห้องเรียนธรรมชาติ เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและเป็นแหล่งข้อมูลการจัดการป่าชุมชน ป่าสมุนไพร แก่ผู้ที่มาศึกษาเช่นที่บริเวณป่าห้วยไถ บ้านดอนมูล ตำบลบ้านปวง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน

10

ชุมชนมีความตั้งใจและพร้อมใจที่จะพัฒนาป่าต้นน้ำและลุ่มน้ำของตนให้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร และแหล่งเรียนรู้ โดยอาศัยภูมิปัญญาของชาวบ้านในการจัดการแหล่งต้นน้ำลำธารให้เป็นมรดกตกทอดสู่เยาวชนรุ่นหลังต่อไป

“…ทุกคนที่ทำงานให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่ รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเป็นแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับฝายต้นน้ำลำธาร (Check Dam) ในพื้นที่ต่าง ๆ ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
1 มีนาคม 2521

แกลเลอรี่ภาพ “ ฝายต้นน้ำลำธาร ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ๓ ทศววรษ ศูนย์การศึกษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.