“แม่ฟ้าหลวง” เป็นพระสมัญญานามที่ชาวไทยภูเขาใช้เรียก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ด้วยความรักและเทิดทูน เนื่องจากพระองค์มักเสด็จฯ มาเยี่ยมเยียนประชาชนบนภูเขาด้วยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง และทรงมาพร้อมกับสิ่งของพระราชทาน อาหาร เครื่องมือ และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับราษฎร ภาพจำของพวกเขาจึงเห็นพระองค์ท่านเปรียบเสมือนแม่ที่เสด็จฯ มาจากฟ้าเพื่อปัดเป่าให้ทุกคนพ้นทุกข์พ้นโศกโรคภัย

โดยวัตถุประสงค์เริ่มแรกเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวเขา ด้วยการส่งเสริมและหาตลาดให้งานหัตถกรรมของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ รวมทั้งดูแลไม่ให้ชาวเขาเหล่านั้นถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมชื่อ “มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์” ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ใน พ.ศ. 2515

ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยฯ ได้ริเริ่ม “โครงการผู้นำเยาวชนชาวเขา” (Hill Tribe Youth Leadership) โดยได้รับพระราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ USAID (United States Agency for International Development) มีการนำเยาวชนชาวเขาจากหมู่บ้านห่างไกลความเจริญมาอยู่รวมกันแบบครอบครัว ให้ทุนเล่าเรียน และอบรมความประพฤติตามแนวพระราชดำริ

ต่อมาใน พ.ศ. 2528 มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยฯ เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์” สมเด็จพระศรนครินทราบรมราชชนนี เพื่อรองรับการขยายขอบเขตการทำงาน ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนทั้งในด้านสังคมเศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ได้แก่ พม่า อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย

“ช่วยเขา ให้เขาช่วยตัวเขาเอง” หลังจากที่สมเด็จย่าสวรรคตในปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นนายกกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2539 และเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ห้วงเวลาสำคัญของมูลนิธิฯ ได้แก่

หมุดหมายสำคัญ

ปีพุทธศักราช

2515

ก่อตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”

ปีพุทธศักราช

2530

พระราชดำรัสสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” เริ่มโครงการพัฒนาเต็มรูปแบบที่ดอยตุงและเริ่มการก่อสร้างพระตำหนักดอยตุงเพื่อเป็นที่ประทับทรงงาน

ปีพุทธศักราช

2531

โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 9,900 ไร่ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา

ปีพุทธศักราช

2532

ก่อตั้ง “บริษัท นวุติ จำกัด” เพื่อปลูกป่าเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นวิสาหกิจกิจเพื่อสังคมแห่งแรกของประเทศไทย

ปีพุทธศักราช

2533

ก่อตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมอาชีพหัตถกรรม” เพื่อฝึกอบรมการทอผ้าและเย็บผ้า ปัจจุบันเรียกว่า “ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ” โดยเปิดบริการร้านแม่ฟ้าหลวงแห่งแรกที่ดอยตุง ปัจจุบันร้านหัตถกรรมทั้งหมดมีชื่อใหม่ว่า “ดอยตุงไลฟ์สไตล์”

ปีพุทธศักราช

2535

ก่อตั้ง “ศูนย์บำบัดยาเสพติด” ที่บ้านผาหมี เพื่อให้ผู้ติดยากว่า 500 คน กลับเข้าสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี

“แบรนด์ดอยตุง”

เกิดจากโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2531 บนพื้นที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 93,515 ไร่ ให้ประโยชน์แก่ชาวบ้าน 29 หมู่บ้าน ประมาณ 11,000 คน ประกอบด้วยชนเผ่า 6 เผ่า

ในอดีต ชาวบ้านบนดอยตุงไม่มีสัญชาติ อยู่ในโลกแห่งการเอาตัวรอดและความยากจนแร้นแค้น โดยที่ไม่มีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการสนับสนุนใด ๆ จากภาครัฐ ทั้งยังมีกลุ่มติดอาวุธครอบครองพื้นที่บางส่วนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ดอยตุงซึ่งตั้งอยู่ใจกลางสามเหลี่ยมทองคำจึงเป็นแหล่งปลูกพืชเสพติด เผชิญปัญหาสังคมที่ซับซ้อน และมีธรรมชาติที่ถูกทำลายจากการแผ้วถางเพื่อทำไร่เลื่อนลอย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนดอยตุงเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2530 และทรงเล็งเห็นว่ารากเหง้าของปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมบนดอยตุง คือ ความยากจนและการขาดโอกาสในการดำรงชีวิต จึงทรงมีพระราชดำริที่จะนำผืนป่ากลับคืนสู่ดอยตุง และฟื้นฟูดอยตุงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นับเป็นการให้โอกาสคนทุกหมู่เหล่าไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา หรือสัญชาติใด ทำให้ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ มีความหวังอีกครั้ง

พระราชปรัชญาในการทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีสำนึกและพึ่งพาอาศัยกัน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำริให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ สามารถเลี้ยงตนเองได้ เพราะหากพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาล จะไม่เป็นการยุติธรรมกับประชาชนชาวไทยที่ไม่ได้อาศัยอยู่บนดอยตุง ความมั่นคงทางการเงินที่ควบคู่กับความก้าวหน้าทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงได้สร้าง “แบรนด์ดอยตุง” ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางหลักในการหารายได้สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทำให้สามารถเลี้ยงตนเองได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา แบรนด์ดอยตุงประกอบด้วยหน่วยธุรกิจ 4 หน่วย ได้แก่

อาหาร

หัตกรรม

การเกษตร

การท่องเที่ยว

อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ไร่แม่ฟ้าหลวง” ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เดิมเป็นสถานที่ทำการของ “มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” สถานที่แห่งนี้เคยทำหน้าที่เสมือน “บ้าน” สำหรับผู้นำเยาวชนชาวเขาจากหมู่บ้านห่างไกลที่ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนได้ฝึกวิชาชีวิตจากการอยู่ร่วมกัน ก่อนจะเติบโตแยกย้ายกันไปพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง

ต่อมาโครงการนี้ได้สิ้นสุดลง เมื่อการศึกษาภาครัฐขยายเข้าไปในพื้นที่ห่างไกล เยาวชนจึงมีโอกาสเรียนในโรงเรียนใกล้หมู่บ้าน ไร่แม่ฟ้าหลวงจึงเปลี่ยนเป็น “อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง” เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาของไทย

ปัจจุบัน อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคเหนือ เปิดให้นักท่องเที่ยวชมงานพุทธศิลป์เก่าแก่ โบราณวัตถุอายุนับศตวรรษ ศิลปวัตถุรังสรรค์จากไม้สัก มีอาคารสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามท่ามกลางความเขียวชอุ่ม ร่มรื่นของพรรณไม้ท้องถิ่นบนพื้นที่ 150 ไร่ ได้รับรางวัลกินรี จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเภทรางวัลดีเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมเมื่อปีพ.ศ. 2549 และได้รับประกาศนียบัตรการบริการยอดเยี่ยม (Certificate of Excellence) ประจำปี 2558 จาก TripAdvisor

หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ

ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ ริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หอฝิ่นเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2548 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่มุ่งหวังให้ประชาชนตระหนักถึงมหันตภัยของสารเสพติด ทั้งต่อบุคคลและส่วนรวมอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การลดอุปสงค์ของยาเสพติด โดยนำเสนอประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการของสารเสพติดจากฝิ่น รวมถึงขบวนการค้ายาเสพติดผ่านมัลติมีเดียทันสมัย เป็นการให้ความรู้คู่ความบันเทิง

หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ ได้รับประกาศนียบัตรการบริการยอดเยี่ยม (Certificate of Excellence) ประจำปี 2558 จากเว็บไซต์ TripAdvisor เช้นกัน

01

โครงการพัฒนาในประเทศ

• โครงการสำรวจข้อมูลผู้พลัดถิ่นในศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้ง 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์
• โครงการ “กล้า…ดี: ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุทกภัย อย่างยั่งยืน”
• โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
• โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการ แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน ตามแนวพระราชดำริ
• โครงการขยายผลการปลูกป่า ปลูกคน จากดอยตุง สู่ปางมะหัน สู่ปูนะ
• ศูนย์ฝึกอบรมทางการแพทย์แห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

02

โครงการพัฒนาในต่างประเทศ

• โครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน จังหวัดท่าขี้เหล็ก และจังหวัดเมืองสาด รัฐฉาน สาธารณรัฐสหภาพพม่า
• โครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน อำเภอเยนันชอง สาธารณรัฐสหภาพพม่า
• โครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน จังหวัดอาเจะห์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
• โครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน จังหวัดบัลคห์ สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน

“…ช่วยเขา ให้เขา ช่วยตัวเขาเอง…”

พระราชดำรัส
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

แกลเลอรี่ภาพ “ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์. (n.d.). หลักการพัฒนา. เมื่อ 27 เมษายน, 2565, จาก https://www.maefahluang.org/how-we-work/
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.