ภาพ ๆ หนึ่ง ที่คุ้นตาคนไทยทั้งประเทศมาเป็นเวลาหลายสิบปีในช่วงระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงงานพัฒนาเพื่อประชาชน คือภาพ “แผนที่” ที่ทรงถือไว้ตลอดเวลา ครั้งหนึ่ง ถึงกับทรงตรัสว่า

“คนเขาหาว่าฉันบ้าแผนที่”

อุปกรณ์สำคัญในการทรงงาน

ทรงใช้แผนที่ 9 ระวาง ที่ทรงสร้างขึ้นมาด้วยพระองค์เองจากการตัดแปะแผนที่ตั้งต้นของกรมแผนที่ทหาร ขนาดมาตรฐาน 5 คูณ 12 เมตร มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ซึ่งมีความละเอียดสูงถึง 9 แผ่นเข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากหากใช้แผ่นเดียวจะไม่สามารถมองได้เป็นบริเวณกว้างขึ้น ไม่มีพิกัดที่ชัดเจน และไม่มีรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับภูมิประเทศ เช่น ร่องน้ำ หมู่บ้าน ป่าชนิดต่าง ฯลฯ ที่จำเป็นต่อการคิดและวางแผนงานพัฒนา การนำแผนที่ 9 ระวาง มาใช้ ทำให้ได้แผนที่ที่มีความละเอียดสูงและได้ภาพมุมกว้างในขณะเดียวกัน ทำให้แผนที่ส่วนพระองค์ที่ทรงถือไว้ตลอดเวลามีขนาดใหญ่มาก แต่ก็ทรงมีวิธีพับจนได้ขนาดเหมาะมือ พกพาได้สะดวก และนำออกมาใช้งานได้ง่ายด้วย ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยตรัสให้ฟังว่า

“…เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ พระองค์ท่านจะต้องใช้แผนที่เป็นคู่มือทุกครั้ง ในห้องทรงงานที่พระตำหนักทุก ๆ แห่งทั่วประเทศ จะมีแผนที่ประเทศไทยขนาดใหญ่ติดฝาห้อง และแผนที่ที่ขยายเฉพาะส่วนก็มีอีกหลายแผ่น ฉบับที่ทรงถือติดพระหัตถ์นั้น ความจริงมีขนาดใหญ่มาก เพราะทรงนำแผนที่มาต่อกันถึง 9 แผ่น หรือ 9 ระวาง แต่ทรงหาวิธีพับแบบพิเศษ จนมีขนาดที่ทรงถือได้สะดวก พลิกออกมาทอดพระเนตรได้ง่าย ทรงตรวจสอบแผนที่เสมอ ไม่ว่าจะเสด็จฯ ที่ไหน แม้ขณะทรงขับรถเอง ก็มีแผนที่วางอยู่ข้างพระองค์ตลอดเวลา…”

คู่มือการพัฒนาพื้นที่

ทรงเห็นความสำคัญของแผนที่มาก เนื่องจากต้องทรงงานในพื้นที่ทุรกันดารทั่วประเทศ โดยในช่วงกลางรัชกาล ทรงงานในต่างจังหวัดของประเทศไทยมากกว่า 8 เดือนต่อปี แผนที่ของพระองค์เป็นแผนที่ที่เป็นปัจจุบันและมีความแม่นยำที่สุดในประเทศ เพราะทรงปรับแก้ข้อมูลจากการลงพื้นที่จริงตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งเสด็จไปหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดนราธิวาสและได้สอบถามประชาชนที่มารับเสด็จว่า “ที่นี่ที่ไหน” ผู้ถูกถามตอบว่า “บ้านเจาะบากง” เมื่อทรงตรวจสอบกับแผนที่พบว่าไม่มีชื่อหมู่บ้านดังกล่าว แต่กลับมีชื่อของอีกหมู่บ้านหนึ่งไม่มีอยู่แล้วเพราะประชาชนย้ายถิ่นฐานไปอีกแห่งหนึ่ง จึงทรงปรับแก้ข้อมูลในแผนที่ทันที แล้วส่งต่อให้นายทหารจดไว้เพื่อนำไปแก้ไขให้ถูกต้องในแผนที่ที่เป็นทางการต่อไป

ทรงใช้พร้อมกล้องคู่ใจ

ทรงใช้แผนที่ควบคู่ไปกับกล้องถ่ายรูปที่แขวนไว้บนพระศอตลอดเวลาเช่นกัน โดยทรงถ่ายรูปภาพภูมิประเทศจากเฮลิคอปเตอร์เก็บไว้จำนวนมาก แล้วนำภาพมาต่อกันทำเป็นแผนที่ทางอากาศแบบง่าย ๆ กลายเป็นแผนที่ทางอากาศที่มีข้อมูลเป็นปัจจุบันที่สุด เหมาะสำหรับการวางแผนโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างคร่าว ๆ ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลใหม่ที่แผนที่อื่นไม่มี

จากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนแทบจะตลอดเวลา เป็นโอกาสให้ประชาชนได้เล่าปัญหาชีวิตของตัวเองให้ทรงรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเงิน การศึกษา สุขภาพ การเกษตร ฯลฯ รวมถึงการที่ทรงเก็บข้อมูลจากศูนย์รวมใจของชุมชน เช่น วัดต่าง ๆ ทำให้นอกจากจะมีข้อมูลเชิงปริมาณเกี่ยวกับภูมิศาสตร์และข้อมูลการปกครองอย่างแผนที่ทั่วไปแล้ว ยังทรงมีข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับทุกข์ สุข และประเด็นทางเศรษฐกิจ-สังคมที่รวบรวมได้จากพื้นที่จริงด้วยพระอีกด้วย

เรื่องเล่าจากผู้ร่วมทาง

ผู้ที่สามารถอธิบายและเล่าขานความสำคัญของแผนที่ทรงงานเหล่านี้ได้อย่างดี ก็คือผู้ที่ถวายงานใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องและยาวนาน คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดังเช่น

“…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามเรื่องสถานการณ์น้ำอยู่ตลอดเวลา แม้ระหว่างประทับพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชก็ไม่ทรงว่างเว้นเลย…เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมนี่เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้บริหาร สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานสรุปสถานการณ์น้ำ ได้รับสั่งให้ย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำทั่วประเทศ ให้ช่วยกันวางแผนเพื่อรับมือปัญหาน้ำที่ขาดแคลนเป็นประจำทุกฤดูแล้ง เพราะจะขาดแคลนมากขึ้นในอนาคต โดยให้คำนึงถึงการประสานประโยชน์ ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป

 

ถ้าประทับเฮลิคอปเตอร์ ก็จะทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริงเบื้องล่าง เปรียบเทียบไปกับแผนที่ตลอดทาง ไม่มีการหลับเด็ดขาด เสด็จฯ ไปถึงที่หมายแล้ว จะทรงถามชาวบ้านว่า ชื่อหมู่บ้าน แม่น้ำลำคลอง หรือถนน ตรงกับแผนที่ไหม มีหมู่บ้านใดเกิดขึ้นมาใหม่บ้าง ถ้ามีข้อมูลที่ต่างไปจากแผนที่ จะโปรดฯ ให้นายทหารแผนที่จดไว้และนำไปแก้ไข ในการพิมพ์แผนที่ครั้งต่อไปให้ถูกต้อง หากมีโครงการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ทรงสามารถคำนวณพื้นที่รับน้ำคร่าว ๆ ได้จากแผนที่ของพระองค์เอง ทรงชำนาญมาก จนทอดพระเนตรความสูงต่ำของภูมิประเทศได้ ราวกับทอดพระเนตรพื้นที่จริง นักวิชาการหลายท่านทราบดีถึงพระปรีชาสามารถด้านการทรงงานแผนที่ของพระองค์ท่านดี และความที่ทรงแม่นยำในแผนที่นี้ ทำให้ข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้วยพลอยกระตือรือร้น ศึกษาหาความรู้เรื่องแผนที่ไปด้วย…”

พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระราชทานแก่คณะบุคคลที่มาเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่อง ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ตามเสด็จทรงงานในหลายพื้นที่ ทรงเล่าถึงเรื่องแผนที่ของพระองค์ท่าน ไว้ในรายการวิทยุ “พูดจาภาษาช่าง” ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ ความว่า

“…แผนที่ที่พระองค์ทรงใช้คือ มาตราส่วน 1 : 5 หมื่น สำนักงานของท่านคือห้องกว้าง ๆ ไม่มีเก้าอี้ มีพื้นแล้วท่านก้มอยู่กับพื้น แล้วเอากาวติดแผนที่เข้าด้วยกัน แล้วหัวกระดาษต่าง ๆ ท่านก็ค่อย ๆ ตัดแล้วเรียงแปะเป็นหัวแผนที่เข้าด้วยกันใหม่ เพื่อจะได้ทราบว่าแผนที่ระวางไหนบ้าง
…การปะแผนที่ท่านก็ทำอย่างพิถีพิถัน และถือเป็นงานที่ใครจะมาแตะต้องช่วยเหลือไม่ได้เลยทีเดียว…”
“…ท่านบอกว่าคนเป็นช่าง ช่างหมายถึงงานทำด้วยมือทั้งหลายแหล่ ซึ่งการทำอะไรด้วยมือได้ ไม่ใช่หมายความว่ามือทำเอง มันมาจากสมอง สมองสั่งให้มือทำจึงทำได้ งานช่างคืองานที่ผนวกกันระหว่างสมองกับมือ เพราะฉะนั้นต้องทำเอง ขีดเอง ลูบคลำมันไปแล้ว มันจะได้จากมือที่ลูบคลำ จากตาที่ดู ย้อนกลับมาที่สมอง ทำให้คิดอะไรขึ้นมาได้…”

“…แผนที่แต่ละแผ่นทรงหวง ท่านหวงแผนที่ของท่าน อันเดิมนั้นต้องเก็บไว้ โดยเฉพาะแผนที่ทางภาคใต้นั้นโดนฝนมา ทำให้ค่อนข้างเปื่อยยุ่ย ต้องถือด้วยความระมัดระวัง…ถ้าแผนที่นั่นเน่าเต็มทน คือ โดนฝน โดนอะไรมา หลายปีหลายฤดูกาล ท่านก็ต้องย้ายข้อมูลจากแผ่นเก่ามาแผ่นใหม่ ซึ่งท่านก็ต้องทำเองอีกเหมือนกัน…ขณะที่ทรงงานจะทรงเติมข้อมูลต่าง ๆ ลงไปมาก และทรงแก้ไขความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่ทรงพบด้วย เมื่อทรงได้ข้อมูลใหม่จึงส่งตรงไปพระราชทานกรมแผนที่ทหารเสมอ…”

นอกจากสองพระองค์ผู้ถวายงานใกล้ชิดแล้ว นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถวายงานในเรื่องชลประทานอย่างต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน

นายปราโมทย์ เล่าว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านแผนที่อย่างมาก ในหลายโครงการชลประทาน หลังทรงลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมด้วยพระองค์เองแล้ว จะสามารถนำมาจัดวางและกำหนดพิกัดได้ด้วยพระองค์เอง และให้กรมชลประทานไปตรวจสอบดูก็พบว่าเป็นพิกัดที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นในเรื่องแผนที่ส่วนพระองค์ที่จะหวงมาก และจะทรงใช้ติดพระองค์ตลอดเวลาไม่ว่าจะไปทรงงานอะไร

“…เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ พระองค์ท่านจะต้องใช้แผนที่เป็นคู่มือทุกครั้ง ในห้องทรงงานที่พระตำหนักทุก ๆ แห่งทั่วประเทศ จะมีแผนที่ประเทศไทยขนาดใหญ่ติดฝาห้อง และแผนที่ที่ขยายเฉพาะส่วนก็มีอีกหลายแผ่นฉบับที่ทรงถือติดพระหัตถ์นั้น ความจริงมีขนาดใหญ่มาก เพราะทรงนำแผนที่มาต่อกันถึง 9 แผ่น หรือ 9 ระวาง แต่ทรงหาวิธีพับแบบพิเศษ จนมีขนาดที่ทรงถือได้สะดวก พลิกออกมาทอดพระเนตรได้ง่าย ทรงตรวจสอบแผนที่เสมอ ไม่ว่าจะเสด็จฯ ที่ไหน แม้ขณะทรงขับรถเอง ก็มีแผนที่วางอยู่ข้างพระองค์ตลอดเวลา…”

พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะบุคคลที่มาเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แกลเลอรี่ภาพ “ แผนที่ของพระราชา ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

กระทรวงวัฒนธรรม. (2559). 99 พระบรมราโชวาทน้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์. กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม.
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ. (2559). ตามรอยพ่อ ก-ฮ: รวม 309 คําที่คนไทยควรรู้ จากพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชดําริ พระราชดํารัส. สารคดี, สนพ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.