“ฝนหลวง” เป็นภูมิปัญญาจากพระมหากษัตริย์ และเป็นนวัตกรรมที่ล้ำสมัยในห้วงเวลาแรกเริ่มในการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งในเวลาต่อมา นวัตกรรมเรื่องนี้ได้รับรางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการฝนหลวง ในพ.ศ. 2544 จากคณะกรรมการจัดงานบรัสเซลส์ ยูเรก้า ในงาน บรัสเซลส์ ยูเรก้า 2001 ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ย. 2544 โดยสภาวิจัยแห่งชาติได้จัดแสดงผลงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำนวน 3 ชิ้น คือ ผลงานเรื่องทฤษฎีใหม่ (The New Theory) ผลงานเรื่องน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม (Palm Oil Formula) และผลงานเรื่องฝนหลวง (Royal Rain Making) นอกจากนี้ยังได้รับถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร มอบให้ผลงานประดิษฐ์คิดค้นทฤษฎีใหม่ ปาล์มน้ำมัน ฝนหลวง และประกาศนียบัตร Honored Member of BACCI โดยเป็นรางวัลจาก Bulgarina American Chamber of Commercial and Industry (BACCI) อีกด้วย

บรรเทาแล้ง เติมน้ำให้ป่าและประชาชน

ในยุคสมัยนั้น ประชาชนต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและใช้ในการเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาภัยแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เรือกสวนไร่นาขาดน้ำ ไม่เจริญเติบโตตามปกติ เหี่ยวเฉายืนต้นแห้งตาย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีพของเกษตรกร ลุกลามไปถึงปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทรงได้รับรู้ถึงความความทุกข์ยากเหล่านี้เพราะได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารมากกว่าการประทับอยู่ในกรุงเทพมหานครถึงปีละประมาณ 8 เดือน ครั้งหนึ่งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร 15 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์เดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ระหว่างทางได้ผ่านจังหวัดสกลนคร และเทือกเขาภูพาน ทรงทอดพระเนตรท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆแล้วตรัสว่า

“ทำอย่างไรจะดึงเมฆเหล่านี้ลงมาได้”

หลังจากนั้น ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้ และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ จนทรงมั่นพระทัย และพระราชทานแนวคิดนี้แก่ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้ ทรงใช้ความเพียรศึกษาทดลองเรื่องการทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 ปี จบประสบความสำเร็จและสามารถมีปฏิบัติการ “ฝนหลวง” สร้างความชุ่มฉ่ำเย็นให้คนไทยมาจวบจนปัจจุบัน

กำเนิด “การดึงน้ำจากฟ้า”ในพ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบว่า พร้อมที่จะดำเนินการตามพระราชประสงค์แล้ว ดังนั้นในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2512

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการและหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองเป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรกโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง (dry ice หรือ solid carbondioxide) ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆทดลองเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจนเกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็วแล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลมพ้นไปจากสายตาไม่สามารถสังเกตได้เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่าเกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ก่อกวน

โดยการใช้สารเคมีไปกระตุ้นมวลอากาศทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย ให้เกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเมฆฝน ขั้นตอนแรกนี้เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การทำฝนหลวงในขั้นตอนนี้จึงมุ่งใช้สารเคมีไปกระตุ้นอากาศให้เกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำหรือความชื้นเข้าสู่ระดับการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานของขั้นตอนแรกนี้ ควรดำเนินการในช่วงเช้าของแต่ละวัน สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้ ได้แก่ สารแคลเซียมคลอไรด์ สารแคลเซียมคาร์ไบด์ สารแคลเซียมอ๊อกไซด์ หรือสารผสมระหว่างเกลือแกงกับสารยูเรียหรือสารผสมระหว่างสารยูเรียกับสารแอมโมเนียไนเตรทซึ่งสารผสมดังกล่าวนี้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำก็ตาม แต่ก็สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้อันเป็นการกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในมวลอากาศ อีกทั้งยังเสริมสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมฆทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมายอีกด้วย เมื่อเมฆเริ่มเกิดมีการก่อรวมตัวและเจริญเติบโตทางตั้งแล้ว จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อนโปรยเป็นวงกลมหรือเป็นแนว ถัดมาทางใต้ลมเป็นะระยทางสั้น ๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดก้อนเมฆเป็นกลุ่มแกนร่วมในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการ สำหรับใช้เป็นแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝนในระยะต่อมา

ตำราฝนหลวงพระราชทาน

ช่วยเหลือประชาชน ลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ

หลังจากที่ทรงประสบผลสำเร็จและมีการยอมรับจากทั้งภายในและต่างประเทศแล้วนั้นปริมาณความต้องการฝนหลวงเพื่อช่วยพื้นที่เกษตรกรรม และการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น เช่น ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2520 – 2534 มีการร้องเรียนขอฝนหลวงเฉลี่ยถึงปีละ 44 จังหวัด ซึ่งทรงพระเมตตาอนุเคราะห์ช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการบรรเทาการสูญเสียทางเศรษฐกิจให้ประสบความเสียหายน้อยที่สุด นอกจากนี้ประโยชน์สำคัญที่ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภค ก็คือ เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างและเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน และผลิตกระแสไฟฟ้า แหล่งน้ำและต้นน้ำลำธารธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงป่าไม้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งความชุ่มชื้นที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากฝนหลวงจะช่วยลดการเกิดไฟป่าได้เป็นอย่างมาก ฝนหลวงได้เข้ามามีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในการบรรเทามลภาวะที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราหลายประการ อาทิ ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำลำคลอง โรคระบาด อหิวาตกโรค การระบาดของศัตรูพืชบางชนิด เช่น เพลี้ย ตั๊กแตกปาทังก้า เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ได้รับความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมตลอดมา

“ทำอย่างไรจะดึงเมฆเหล่านี้ลงมาได้”

“ฝนหลวง” ได้รับภาระในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนมากเกินกว่าที่คาดไว้ เพราะได้รับการร้องขอให้ขยายการบรรเทาความเดือดร้อนที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษเพิ่มเติมอีกด้วย กล่าวคือ ฝนหลวง มีส่วนช่วยเหลือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยหลายอย่างด้วยกัน อาทิ

01

ด้านการเกษตร

แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงยาวนาน เช่น แถบจังหวัดจันทบุรี หรือเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ และทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำของแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนลดน้อยลง เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เป็นต้น

02

ด้านการอุปโภคบริโภค

ภาวะความต้องการน้ำทั้งจากน้ำฝนและอ่างเก็บน้ำห้วย หนองคลองบึง เป็นความต้องการที่สามัญของผู้คนอย่างยิ่ง การขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้มีความรุนแรงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเนื่องจากคุณสมบัติของดินในภูมิภาคนี้เป็นดินร่วนปนทรายไม่สามารถอุ้มซับน้ำได้ จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ดีเท่าที่ควร

03

แก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ

ภายใต้พื้นดินของภาคอีสานมีแหล่งหินเกลือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ดังนั้นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่มีทางระบายออก หากมีปริมาณน้ำเหลือน้อย น้ำจะกร่อยหรือเค็มได้ เพราะหินเกลือที่อยู่ด้นล่างเกิดมีการละลายแล้วลอยตัวเคลื่อนที่ขึ้นมาบนผิวดิน

04

เสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ

เมื่อการขาดปริมาณน้ำเกิดขึ้นดุจภาวะลูกโซ่เช่นนี้ก็ส่งผลมาถึงระดับน้ำในแม่น้ำลดต่ำลงบางแห่งตื้นเขินจนไม่สามารถสัญจรไปมาทางเรือได้ เช่น ทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบางตนในปัจจุบันการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าวจึงนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะการขนส่งสินค้าทางน้ำเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่น และการจราจรทางบกนับวันจะมีปัญหารุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

05

ป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่ง แวดล้อม

ฝนหลวง ได้บรรเทาภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอันเกิดจากการระบายน้ำเสียทิ้งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและขยะมูลฝอยที่ผู้คนทิ้งลงในสายน้ำกันอย่างมากมายนั้นปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักดันออกสู่ท้องทะเล ทำให้ภาวะมลพิษจากน้ำเสียเจือจางลงซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนจากขยะมูลฝอยและกระแสน้ำเสียต่างสีในบริเวณปากน้ำจนถึงเกาะล้านเมืองพัทยา

06

เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิผลและเขื่อน สิริกิติ์เพื่อผลิตแระแสไฟฟ้า

ใช้รับมือเมื่อเกิดภาวะวิกฤติระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังงานน้ำไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าส่งให้ผู้ใช่ได้อย่างทั่วถึงจนถึงขนาดเกรงกันว่าอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการต่าง ๆ ในการประหยัดพลังงานไฟฟ้ากันบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

แต่การทำฝนหลวงก็ยังคงดำเนินการต่อมาจวบจนถึงทุกวันนี้ เป็นกำลังสำรองน้ำทางอากาศที่สามารถส่งไปบรรเทาความเดือดร้อนของพสกนิกรได้เมื่อจำเป็น

ฝนหลวงนั้นเป็นตัวอย่างในเรื่อง “ความเพียร” จากพระองค์โดยแท้

หากมีใครบอกว่าจะสั่งเมฆบนฟ้ามาเป็นสายน้ำในสมัยนั้น คงมีแต่เสียงหัวเราะ แต่พระองค์ได้ทรงพิสูจน์ว่า ความเพียรในการศึกษาทดลองยาวนานนับ 10 ปีสามารถทำสิ่งนั้นได้ พระองค์คือพระมหาชนกผู้เอาชนะอุปสรรคต่างๆด้วยความเพียร และทรงเป็นพระมหาชนกในใจของพสกนิกรมิเสื่อมคลาย

ฝนหลวงนั้นเป็นตัวอย่างในเรื่อง “ความเพียร” จากพระองค์โดยแท้ 

“…การทำฝนเทียมนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์ วัสดุ และเจ้าหน้าที่ งานที่ทำนี้ก็ต้องส้ินเปลืองไม่ใช่น้อย แต้ถ้าผลที่ได้ คือจะเป็นผลที่น่าพอใจ การทำฝนนี้ เป็นสิ่งที่ลำบากหลายๆ ประการ ทางด้านเทคนิค และในด้านจังหวะที่จะทำ เพราะถ้าพูดถึงด้านเทคนิค ฝนที่ทำนี้ จะพลิกฤดูการไม่ได้ ไม่ใช่ว่าฝนแล้งจะบันดาลได้อย่าง ปาฎิหาริย์ทำให้มีฝนเพียงพอกับการเพาะปลูกมิได้ หรือจะแทนการ ชลประทานที่ขุดเรียบร้อยกว้างขวางก็ไม่ได้ แต่เป็นทางหนึ่งที่มีหวัง สำหรับฤดูกาลที่ควรจะมีฝน และฝนเทียมจะช่วยให้ประคองพืชผล ไม่ให้สิ้นไปพอได้ การทำฝนเทียมนี้เป็นสิ่งที่ใหม่ จึงต้องทำโครงการ อย่างระมัดระวัง เพราะว่าสิ้นเปลือง ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลจะสิ้น เปลืองโดยใช่เหตุ…”

พระราชดำริ

ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

25 กรกฎาคม 2517

แกลเลอรี่ภาพ “ ฝนหลวง ”

อินโฟกราฟิก

อ้างอิง

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร. (2560). ต้นกำเนิดโครงการพระราชดำริฝนหลวง. ข้อมูล 3 เมษายน, 2565, จาก https://www.royalrain.go.th/royalrain/Editor_Page.aspx?MenuId=15
ซัม สาวพัตร์. (2559). พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส. สำนักพิมพ์ย้อนรอย.
“เมฆเล็กเล็ก”. (2564, 16 กันยายน). รางวัลแด่คนช่างคิด. กรมฝนหลวงและการบินเกษตร. เมื่อ 28 เมษายน, 2565, จาก https://www.royalrain.go.th/royalrain/ShowDetail.aspx?DetailId=13950
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
(สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.