“แก้มลิง” คลองพักน้ำขนาดใหญ่ โครงการแก้มลิงเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2538 โดยการขุดลอกคลองชายฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นคลองพักน้ำขนาดใหญ่หรือ “แก้มลิง” แล้วระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก หรือน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ ปัจจุบันโครงการแก้มลิงยังได้ขยายการดำเนินงานไปที่โครงการบรรเทาอุทกภัยตามพระราชดำริ (แก้มลิงหนองใหญ่) จังหวัดชุมพร และโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย ทั้งนี้ นอกจากโครงการแก้มลิงจะมีขึ้นเพื่อช่วยระบายน้ำ ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ เมื่อถูกระบายสู่คูคลอง จะไปบำบัดน้ำเน่าเสียให้เจือจางลง และในที่สุดน้ำเหล่านี้จะผลักดันน้ำเสียให้ระบายออกไปได้

ที่มาของแนวคิด “แก้มลิง”

แนวคิดของโครงการแก้มลิง เกิดจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ มีพระราชกระแสอธิบายว่า “ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง” ด้วยแนวพระราชดำรินี้ จึงเกิดเป็น “โครงการแก้มลิง” ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ ไว้รอการระบายเพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง

วิธีที่ลิงระบายน้ำออกจากแก้ม

ลักษณะของโครงการแก้มลิงจะดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน เพื่อให้น้ำไหลลงคลองพักน้ำที่ชายทะเล จากนั้นเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจนต่ำกว่าน้ำในคลอง น้ำในคลองจะไหลลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ ต่อจากนั้นจะเริ่มสูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเอง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง จนในที่สุดเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับในคลอง จึงปิดประตูระบายน้ำ โดยให้น้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)

01

แก้มลิงขนาดใหญ่ ( Retarding Basin)

คือ สระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้นๆ โดยจะกักเก็บไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ พื้นที่เก็บกักน้ำเหล่านี้ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น ลักษณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์อื่นประกอบด้วย เช่น เพื่อการชลประทาน เพื่อการประมง เป็นต้น

02

แก้มลิงขนาดกลาง

เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ มักเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น

03

แก้มลิงขนาดเล็ก (Regulating Reservoir)

คือแก้มลิงที่มีขนาดเล็กกว่า อาจเป็นพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ หรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง

การจัดหาและออกแบบแก้มลิง

การพิจารณาจัดหาพื้นที่กักเก็บน้ำนั้น ต้องทราบปริมาตรน้ำผิวดินและอัตราการไหลผิวดินที่มากที่สุดที่จะยอมปล่อยให้ออกได้ในช่วงเวลาฝนตก โดยสิ่งสำคัญคือต้องจัดหาพื้นที่กักเก็บให้พอเพียง เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาในการระบายน้ำ ปัจจุบันมีแก้มลิงทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร กว่า 20 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางฝั่งธนบุรี เนื่องจากมีคลองจำนวนมาก และระบายน้ำออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา

โครงการแก้มลิง 2 ส่วน

ส่วนแรก

โครงการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้คลองที่ตั้งอยู่ชายทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นทางเดินของน้ำ ตั้งแต่จังหวัด สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร

ส่วนที่สอง

คลองในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะใช้คลองมหาชัย คลองสนามชัย และแม่น้ำท่าจีน ทำหน้าที่เป็นคลองรับน้ำในพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร แล้วระบายลงสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร

นอกจากนี้ ยังมีโครงการแก้มลิง “แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง” เพื่อช่วยระบายน้ำที่ท่วมให้เร็วขึ้น โดยใช้หลักการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดการระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทย เมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ ซึ่งโครงการนี้จะประกอบไปด้วย 3 โครงการในระบบ ได้แก่

01

โครงการแก้มลิง “แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง

02

โครงการแก้มลิง”คลองมหาชัย-คลองสนามชัย”

03

โครงการแก้มลิง “คลองสุนัขหอน”

“…ตามปกติเวลาเราให้กล้วยกับลิง ลิงจะเคี้ยว เคี้ยว เคี้ยวแล้วเก็บไว้ในแก้มลิง แต่ฝูงลิงที่ลพบุรี ท่านผู้ว่าฯลพบุรีคงทราบว่าไม่รับประทานกล้วย เพราะฝูงลิงที่ลพบุรีนั้นเขารับประทานแต่โต๊ะจีน แต่อย่างไรก็ตาม นิสัยของลิงก็ยังคงเป็นลิง เพราะว่า เราจำได้เมื่ออายุ 5 ขวบ มีลิง เอากล้วยไปให้ มันก็เคี้ยว เคี้ยว เคี้ยว แล้วใส่ใน แก้มลิง…”

พระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับโครงการแก้มลิงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
4 ธันวาคม 2538

แกลเลอรี่ภาพ “โครงการแก้มลิง ”

อินโฟกราฟิก

The Kaem Ling “Monkey Cheeks” Project

King Rama IX was inspired to initiate this project after recalling monkey behavior he had observed during childhood. After gathering bananas, the monkeys would eat and store the food in their cheeks. As is seen in the Kaem Ling Project, His Majesty used this memory in order to develop a method for flood prevention. In the project, “Monkey cheeks” are the retention areas that prevent water from flooding into Bangkok and metropolitan areas. By excavating the canals along the coastal areas, both east and west of the Chao Phraya River, the project created big storage reservoirs, or Kaem Ling (Monkey Cheek), which naturally drain floodwater away. 

The project initially dealt with solving flooding problems in Bangkok and metropolitan areas by excavating the canals along the coastal areas both in the west and the east of the Chao Phraya River to serve as big storage reservoirs or Kaem Ling (Monkey Cheek) and draining floodwaters away by natural means such as gravity flow or tidal flow. At present, the Kaem Ling Project has extended to cover other areas namely the Nong Yai Area Development Project (Nong Yai-Natural Kaem Ling), Chumphon Province and the Project to Relieve Food Problems in the Khlong U Ta Phao Basin, Hat Yai, Songkhla Province.

อ้างอิง

ศูนย์วิทยบริการ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์. (n.d.). โครงการแก้มลิง. e-Library. เมื่อ มิถุนายน 7, 2565, จาก https://library.mwit.ac.th/kingix/monkeycheeks/
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.