โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
ในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษาในพุทธศักราช2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชานุญาตจัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ทูลถวาย สมเด็จพระบรมฯ ทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระราชานุเคราะห์ และทรงพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายสัญลักษณ์โครงการ สมเด็จพระบรมฯ ทรงเสด็จเปิดโครงการคลินิกเกษตรฯ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 ณ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี

การจัดตั้งคลินิกเกษตรเคลื่อนที่เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถทำให้การบริหารการจัดการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรแก่เกษตรกรระดับรากหญ้าบรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถให้บริการตรงตามความต้องการและทันต่อเหตุการณ์ การดำเนินงานคลินิกเกษตรเป็นการบูรณาการวิชาการแต่ละสาขา ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง พัฒนาที่ดิน ฯลฯ โดยใช้การเคลื่อนที่เข้าไปหาเกษตรกร สร้างแรงดึงดูดใจและกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นตัว ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกร เพื่อให้บริการทางการเกษตรแก่เกษตรกรตามความต้องการ และความเหมาะสมของพื้นที่ทำให้แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ เสริมสร้างความรู้และฝึกอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมของพื้นที่แก่เกษตรกร สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริม และศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลในการรณรงค์ฟื้นฟูเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
คลินิกเกษตร จัดขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง/จังหวัด

กิจกรรมด้านคลินิก

ได้แก่ การให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ และวินิจฉัยและให้บริการโดยการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ

01

คลินิกพืช (กรมวิชาการเกษตร)

 โรคและแมลงศัตรูพืช วัชพืช สารพิษตกค้าง การขาดธาตุอาหารพืช วัตถุมีพิษทางการเกษตร

02

คลินิกดิน (กรมพัฒนาที่ดิน)

วิเคราะห์และตรวจสอบดินและปุ๋ย

03

คลินิกสัตว์ (กรมปศุสัตว์)

โรคสัตว์ ควบคุมบำบัดโรคสัตว์ ตรวจรักษาพยาบาลสัตว์ ฉีดวัคซีนสัตว์

04

คลินิกประมง (กรมประมง)

โรคสัตว์น้ำ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คุณภาพน้ำ กิจกรรมเสริมสร้าง ความรู้การฝึกอบรมและจัดนิทรรศการที่เป็นความต้องการของเกษตรกรหรือเป็นเทคโนโลยีที่เกษตรกรควรรู้

05

คลินิกบัญชี (กรมตรวจบัญชีสหกรณ์)

การจัดทำบัญชีฟาร์ม

06

คลินิกชลประทาน (กรมชลประทาน)

การบริหารจัดการน้ำ ฯลฯ

07

คลินิกสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

การดำเนินงานด้านสหกรณ์ระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ

08

คลินิกกฎหมาย (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)

การดำเนินงานด้านกฎหมายที่ดิน

09

อื่น ๆ

10

กิจกรรมสนับสนุนโครงการสายใยรักจากแม่สู่ลูก ได้แก่

10.1 คลินิกอาชีพเสริมสำหรับแม่ (เพื่อเพิ่มรายได้ของครอบครัว) – การแปรรูปอาหาร – หัตถกรรม อื่น ๆ
10.2 นิทรรศการเกษตรสมบูรณ์เพิ่มพูนสุขภาพแม่ลูก (เพื่อโภชนาการของแม่และเด็ก ลดรายจ่ายของครอบครัว)
– ชุมชนในชนบท
– ชุมชนในเมือง

ติดตามให้บริการต่อเนื่อง

1. สำนักงานเกษตรจังหวัดร่วมกับหน่วยงานให้บริการคลินิกเกษตรแต่ละด้านจำแนกกลุ่มเกษตรกรที่เข้ารับบริการออกเป็น 2 กลุ่ม ตามระดับปัญหา คือ 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นรายครัวเรือน โดยหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งหรือหลายหน่วยงาน
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่สามารถแก้ไขโดยการช่วยเหลือในภาพรวม หรือช่วยเหลือเป็นรายกลุ่ม/พื้นที่ 

2. จัดทำโครงการและแผนดำเนินงาน ในการช่วยเหลือร่วมกับเกษตรกรที่เข้ารับบริการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งงาน/โครงการออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่
2.1 รายครัวเรือน เช่น ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง
2.2 รายกลุ่มหรือรายพื้นที่ เช่น ด้านดิน ด้านสหกรณ์ ด้านชลประทาน ด้านกฎหมาย 

3. ดำเนินการตามแผนการช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้ารับบริการ 

4. การให้บริการต่อเนื่องนั้นอาจดำเนินการโดยใช้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล เป็นกลไกในการดำเนินงาน และให้เกษตรจังหวัดเป็นผู้ประสานงานกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง (ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด พัฒนาที่ดินจังหวัด ฯลฯ) ในระดับจังหวัดหรือระดับเขต เพื่อจัดหาแผนการหมุนเวียนการเข้าไปให้บริการกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่เคยเข้ามารับบริการ แต่ละคลินิกเป็นข้อมูลพื้นฐานในการให้บริการ

“…ประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ พระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของเกษตร ในเรื่องของการพัฒนา…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
29 มกราคม 2564

แกลเลอรี่ภาพ “โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่”

อินโฟกราฟิก

Agricultural Mobile Clinic Project under the Royal Patronage of H.R.H.

The Ministry of Agriculture and Cooperatives has complemented the Agricultural Mobile Clinic Project under the Royal Patronage of H.R.H. Crown Prince Maha Vajiralongkorn with the objectives enhancing Research and Development work and Farming Management work for more efficient production and solving farmers’ problems in time as well as good collaboration with other academic organizations. These organizations include promotion offices and Sub-District Agricultural Technology Transferring Service Centres. Among these agencies, educators of different fields integrate together in terms of plants, livestock, fishery, land development and accounting, etc. by using equipment that helps their work to be successful. The project has stimulated farmers to be alert and accept innovation at some extents, therefore, continuous working to assist agriculturists needs to be promoted and done in provincial level. Mobiling is a service approach to be rotated to sub-districts as fixed in the plan in all the 77 provinces in Thailand.

อ้างอิง

ระบบข้อมูลโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์. (n.d.). ระบบข้อมูลโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์. https://clinickaset.doae.go.th/site/index
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
Agricultural Mobile Clinic Project. (n.d.). Department of Cooperative Auditing Department, Ministry of Agriculture and Cooperatives. https://cad.go.th/cadweb_eng/ewt_news.php?nid=162&filename=index