เริ่มจากหัวหิน จากสาเหตุที่เกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เนื่องจากพื้นที่แห้งแล้ง แม้จะมีอ่างเก็บน้ำอยู่จำนวนมาก แต่ก็มีเพียงขนาดเล็ก ไม่เพียงพอกับความต้องการ และอ่างเก็บน้ำที่มีความจุพอสมควรก็มีไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาในอนาคตทรงคาดการณ์ถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ จึงได้มีพระราชดำริให้จัดหาแหล่งน้ำและจัดทำระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) ทำให้หลายพื้นที่พ้นจากสภาพแห้งแล้งและกลับพลิกฟื้นผืนดินกลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ในที่สุด ทรงมีพระราชดำริ เรื่องระบบอ่างพวงครั้งแรก วันที่ 30 มิถุนายน 2532 เพื่อการจัดหาน้ำในพื้นที่เพาะปลูก ในเขตอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นการจัดทำระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ โดยเริ่มจากการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุปริมาณมากในบริเวณที่เหมาะสม อาทิ ในเขตต.หนองพลับ ที่มีโครงการพัฒนาที่ดินหนองพลับอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำจำนวนมากที่สร้างไว้มีขนาดเล็กสำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดความจุพอสมควรก็มีเพียงอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดและอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งขามเท่านั้นจึงเห็นสมควรก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุมากๆ ตามท้องที่ต่างๆ ที่เหมาะสม อาทิ ในเขตตำบลหนองพลับ ซึ่งมีโครงการพัฒนาที่ดินหนองพลับอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ขาดแคลนน้ำมากในเวลาฝนแล้ง และต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม 2535 ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้กรมชลประทานจัดหาน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพดีกว่ามาช่วยเหลืออ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดต่อไป

หลักการทำงานของระบบอ่างพวง

การทำงานของอ่างพวงมีหลักการอยู่ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนบนสามารถปล่อยน้ำลงมาเติมอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดเล็กได้ที่อยู่ตอนล่างได้ โดยการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำในแต่ละอ่างเก็บน้ำเข้าหากัน ดังแสดงตามภาพระบบบริหารจัดการน้ำในระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ(อ่างพวง) ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นราษฎรสามารถมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดจนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรทั้งนี้จะต้องมีแผนงานในการใช้จ่ายน้ำของแต่ละปีหรือฤดูกาลเพาะปลูกเพื่อให้มีน้ำในการบริหารได้ตลอดทั้งปี

ขยายสู่พื้นที่ภาคตะวันออก

ระบบอ่างพวงมีการพัฒนาต่อเนื่องตามพระราชดำริ จากปี 2532 เสร็จสมบูรณ์ปี 2549 ไม่เพียงแต่ในพื้นที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดใกล้เคียง เช่น เพชรบุรี และอีกหลายพื้นที่ในภาคตะวันออก ยังได้น้อมนำไปใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำโดยนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณมาก สู่อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย จากอ่างหนึ่งไปยังอีกอ่างหนึ่ง เพื่อให้พื้นที่มีน้ำอย่างเพียงพอ ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จนเกิดเป็นเครือข่ายการใช้น้ำ พื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นพื้นที่แรกที่มีการเชื่อมโยงระบบน้ำอย่างสมบูรณ์ที่สุด ด้วยศาสตร์พระราชาที่เกี่ยวข้องกับระบบการกระจายน้ำที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยง คือมีแหล่งเก็บน้ำ มีระบบกระจายน้ำ และโครงสร้างระบบท่อที่เป็นโครงข่าย

01

เริ่มต้นที่ จ.ระยอง จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณกักเก็บน้ำ 238 ล้านลบ.ม.เชื่อมโยง อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการผลิตประปา เพื่อการอุปโภค-บริโภค และภาคเกษตร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1 แสนไร่ และต้องเชื่อมโยงน้ำไปยัง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถือว่าไม่มีเพียงพอ ดังนั้นจึงมีแนวคิดการนำน้ำจาก จ.จันทบุรีมาใช้ ด้วยการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ซึ่งขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกต ปริมาณเก็บน้ำ 60 ล้านลบ.ม.

02

ส่วนอีก 2 อ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ โดยสามารถเก็บน้ำรวมกันได้ประมาณ 140 ล้านลบ.ม. ขณะที่อีกแห่งหนึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่จะช่วยกัก้เก็บน้ำได้ประมาณ 100 ล้านลบ.ม.

03

แหล่งต้นน้ำจาก จ.จันทบุรี ก่อนหน้าที่จะมีอ่างเก็บน้ำนั้น น้ำส่วนใหญ่จะไหลลงทะเลโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ปีละกว่า 1,000 ล้านลบ.ม. ดังนั้นกรมชลประทาน จึงได้จัดทำระบบท่อ เพื่อสูบน้ำดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ผ่านสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ ผ่านคลองวังโตนดมาเติมในอ่างเก็บน้ำประแสร์วันละ 4.5 แสนลบ.ม. โดยน้ำเหล่านี้นอกจากใช้ในจ.ระยอง แล้ว จะเชื่อมต่อไปยัง จ.ชลบุรี โดยผ่านโครงการวางระบบเชื่อมโยงน้ำ จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ.ศรีราชา แล้วผ่านไปสู่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ซึ่งถือเป็น HUB ธนาคารน้ำ ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ทั้งหมด 117 ล้านลบ.ม.

04

สถานการณ์การใช้น้ำในภาคตะวันออก ยังต้องมีการเติมเต็มในแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนี้มีเพียง อ่างเก็บน้ำสียัด โดยในปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยมาก ประมาณ 20% ของปริมาณกักเก็บน้ำปกติที่ 300 ล้านลบ.ม. โดยอาจกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งในอนาคตจะมีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำอีกประมาณ 3 แห่งด้วยกันคือ อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน อ่างเก็บน้ำหนองกระทิง และอ่างเก็บน้ำตะพง เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ EEC โดยเฉพาะในจ.ฉะเชิงเทรา และอยู่ในแผนงบประมาณปี 2564

05

ด้านกลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับประโยชน์จาก การน้อมนำพระราชดำริ “อ่างพวง” มาใช้ อย่างกลุ่มผู้ใช้น้ำกระแสบน ปี 2551 ( ปีก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ) ต.กระแสบน อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตรตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 2563 ตั้งแต่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำ จนกระทั่งปีนี้ ที่น้ำในอ่างฯ น้อย

“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 17 มีนาคม 2529

แกลเลอรี่ภาพ “ อ่างพวง ”

อินโฟกราฟิก

Ang Puang
(Multi-Connection Water Reservoir Network)

“…We must realize the importance of water. We need it to drink, for daily use and for agriculture. Where there is water, there is life. If there is water, we can survive. If there is no electricity, we can still survive. However, if there is no water but there is electricity, we will perish…”
Speech of His Majesty King Bhumibol Adulyadej delivered at Chitralada Palace on 17th March 1986

Based on this concept, a large proportion of the royal Projects are concerned with water issues. Ang Puang or Multi-Connection Water Reservoir Network is a water resource allocation on a multi-connection network of natural ponds or reservoirs. King Rama IX initiated constructions of natural ponds, reservoirs, and check dams in several areas for the purpose of water storage and supply, agricultural irrigation, hydroelectric power production, flood control, fishery development, and polluted water management.
“Ang Puang”, in particular, serves to ease many issues ranging from flood and drought, irrigation, to water management for agricultural purposes, where each reservoir can transfer water to many reservoirs in one period of time by using pipes which link between reservoirs. Royally initiated in 1989 starting from Hua Hin in Prachuab Kirikhan, the water supply system has been adapted for use in many areas in Eastern Thailand such as Rayong, Chantaburi and Chonburi. This significantly contributes to support for economic development in the EEC. Recently, it has become one of the main agricultural techniques to solve water demand and supply issues throughout the country.

อ้างอิง

กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดเพชรบุรี. (n.d.). โครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ. :: จังหวัดเพชรบุรี ::. เมื่อ มิถุนายน 7, 2565, จาก https://www.phetchaburi.go.th/data/kingproject/project_14.html สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 1. (2557, กุมภาพันธ์ 28). โครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ. สำนักงาน กปร. เมื่อ มิถุนายน 7, 2565, จาก https://www.rdpb.go.th/th/Projects/โครงการที่สำคัญ-c38/โครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ-อ่างพวง-อันเนื่องมาจาก-v7455
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553).ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
Chatpatanasiri R. and Sriburi T. (2009). Demand-Supply Optimization with Risk Management for a Multi-Connection Water Reservoir Network. Data Structures and Algorithms (cs.DS). https://arxiv.org/abs/0912.4798 ThaiQuote. (2565, ตุลาคม 12). “อ่างพวง” ในพระราชดำริ ร.9 พลิกฟื้นชีวิต เกษตร-อุตสาหกรรม ภาคตะวันออก. เมื่อ มิถุนายน 7, 2565, จาก https://www.thaiquote.org/content/241592
TNN Online. (2560, March 25). ชาวแก่นมะกรูด จ.อุทัยธานี ยิ้มได้เพราะศาสตร์พระราชา [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=5Z8W_qMCHcc&t=70s