จุดเริ่มต้นของชัยชนะแห่งการพัฒนา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” โดย ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่าง ๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง หรือทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยเร็ว การที่มูลนิธิชัยพัฒนาเข้ามาดำเนินการเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวดเร็วฉับพลัน โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นการช่วยให้กระบวนการพัฒนา เกิดความสมบูรณ์ขึ้น จากนั้น มูลนิธิชัยพัฒนาได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2531 และเป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2531

เสริมจุดอ่อนสร้างจุดแข็ง

มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพัฒนาอื่น ๆ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ถูกจำกัดด้วยกฎ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เป็นการส่งเสริม การพัฒนาสงเคราะห์และช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น และให้สามารถช่วยตัวเองและพึ่งตนเองได้ มีความร่มเย็นเป็นสุข และอยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ คือ ชัยชนะแห่งการพัฒนา

จัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 2,800 ไร่ ป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้ที่ดินที่ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จัดสร้างเป็น โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 เป็นสระเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ บนเนื้อที่กว่า 2,800 ไร่ ใช้ประโยชน์ในการรองรับน้ำที่ไหล่บ่ามาจากที่ราบลุ่มตอนบน นอกจากเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนใกล้เคียงมีน้ำใช้ ทั้งการอุปโภคบริโภค รวมถึงการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย

การพัฒนาพื้นที่ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
เพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ คือ โครงการสวนรุกขชาติอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยใช้ที่ดินประมาณ 11 ไร่ ที่บ้านสบกเขียว ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก จัดทำเป็นสวนสาธารณะชุมชนให้ราษฎรได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลศรีนาวาเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงาน

 

 โครงการป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี โครงการป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ตำบลตกพรม ตำบล ตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี จัดทำเป็นป่าชุมชนที่ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และดูแลป่า ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

          วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดแห่งแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นแบบอย่างในการก่อสร้างวัดที่มีขนาดเล็ก เน้นความประหยัด เรียบง่าย เป็นพุทธสถานในการประกอบศาสนกิจ เพื่อสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและศรัทธาของประชาชน ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ด้านสังคมและจริยธรรมแก่เยาวชนและประชาชนในชุมชน ขัดเกลาให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม เน้นการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมในลักษณะ บ-ว-ร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน หรือหน่วยราชการ ซึ่งเป็นจุดเด่นของสังคมไทยในอดีตมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน 

          อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งอยู่ ณ ที่ดินที่แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ โดยจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานที่แสดงถึงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นแหล่งศึกษาที่แสดงถึงความสัมพันธ์กลมกลืนกันของสังคมชุมชนชาวไทย จีน ลาว และมุสลิม ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ไทยอีกด้วย นอกจากจะเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนย่านคลองสานที่ประชาชนได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมสัมพันธ์ สร้างความรักใคร่สามัคคีระหว่างกัน ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม

          โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนบ้านโรงวัว จังหวัดเชียงใหม่ และ บ้านบึงแวง ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เดิมผืนดินชุมชนบ้านโรงวัว จังหวัดเชียงใหม่นี้ มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร เข้ามาอยู่อาศัยและทำสวนผลไม้ เช่น ลำไย ในระยะแรกเน้นให้ราษฎรสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพออยู่พอกิน เมื่อระยะเวลาผ่านไปราษฎรกลุ่มนี้ มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นชุนชนที่มีความเข้มแข็ง จนสามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มในรูปของสหกรณ์ 

         ในส่วนของผืนดินที่บ้านบึงแวง ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้จัดทำเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านบึงแวง เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการทำนาให้แก่ราษฎรในโครงการ โดยลดการใช้สารเคมี ซึ่งในปัจจุบันราษฎรกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งในการดำรงชีวิตอีกชุมชนหนึ่ง

          สหกรณ์โคนม จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่เดิมสหกรณ์แห่งนี้ ได้ขอรับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา ในด้านการประกอบกิจการโคนม จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงวัว และโรงนม ซึ่งในปัจจุบันสหกรณ์นี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง และสามารถพัฒนาไปถึงขั้นผลิตอาหารสัตว์ครบวงจร 

          อนึ่ง โครงการทั้ง 3 โครงการนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาจากวิถีชีวิต “พออยู่พอกิน” ไปสู่ “การพึ่งตนเอง” ได้ในที่สุด

“…ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ … เป็น เมืองไทยที่มีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนาตามที่ได้ตั้งชื่อ มูลนิธิชัยพัฒนา ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์ คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
วันที่ 4 ธันวาคม 2537

แกลเลอรี่ภาพ "“ มูลนิธิชัยพัฒนา ”

อินโฟกราฟิก

Chaipattana Foundation

King Rama IX granted an initiative for the establishment of the “Chaipattana Foundation,” of which he acts as the Honorary President. He also appointed Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn to be the Executive Chairperson. Due to regulatory requirements and budget constraints faced by government agencies, His Majesty envisaged a foundation that would serve to provide prompt, timely and necessary responses to problems affecting the Thai people through various development projects. On 14 June, 1988, The Chaipattana Foundation was officially registered as a juristic entity. The Ministry of Finance pronounced the Chaipattana Foundation a charity organization on 8 September, 1988.

The Chaipattana Foundation implements projects and activities in line with royal initiatives. The focus is on rural development work which does not duplicate those carried out by governmental agencies. Key issues for consideration in the implementation of the projects are effectiveness, efficiency, and promptness. In short, the Chaipattana Foundation implements all activities and projects that will serve as a helping hand as well as a facilitator in the national development process.

“…In the Chaipattana Foundation’s work, prompt actions are necessary because problems need to be tackled immediately… Such actions cannot be carried out by a government due to its complicated rules and regulations which may prevent proper and timely solutions to the problems…The Foundation implements the projects as an example, and if a government views that these projects are worthwhile, it can carry on with the implementation, or it can also apply our approach to its own projects.”

His Majesty the King’s Royal Speech on 11 July 1996

Particularly, the Chaipattana Foundation assists rural people, especially farmers, and their communities with resource allocation and the necessary means for the improvement of their livelihoods. The Foundation plans and integrates activities and programs to elevate local income as well as improve a state of well-being. It also strives to promote the awareness of environmental problems and conservation of natural resources and Thai traditions. The work of the Chaipattana Foundation has generated tangible results which benefit the people and effectively contribute to the national development process.

อ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา. Chaipattana Foundation. (2017). The History of Chaipattana Foundation. มูลนิธิชัยพัฒนา. https://www.chaipat.or.th/eng/