ความหลากหลายที่เกื้อกูล ความหลากหลายที่เกื้อกูล “โคกหนองนา” เป็นรูปแบบการพัฒนาพื้นที่และการทำเกษตรกรรมที่สืบเนื่องมาจากการทำ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสืบสาน รักษา ต่อยอดโดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งได้มีพระราชดำรัสไว้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ขณะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงพื้นที่โคก หนอง นา ณ บริเวณพระตำหนักเรือนต้น พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต ว่า
“โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกันรักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้น ก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของเกษตร ในเรื่องของการพัฒนา อันนี้ก็เป็นการรวม หรือแสดงตัวอย่าง และเป็นตัวอย่างที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้ ไม่ใช่เป็นโมเดลที่แสดงไว้ในตู้ อยู่คงที่ แต่เป็นโมเดลที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้อย่างอ่อนตัว อย่างใช้งานได้จริงๆ แล้วก็หลากหลายได้
โคกหนองนา นำความหลากหลาย และความอ่อนตัวมารวม เพื่อใช้งานในเรื่องปากท้องและการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจของเรา เพราะฉะนั้น ก็ขอชมเชยท่านทั้งหลายที่มีความคิด มีความกระตือรือร้น มีความรักในวิชาหรือรักในการเกษตร การนำเกษตรมารวมเป็น โคกหนองนานี้ ไม่ได้จะมาบอกว่าต้องทำเป็นแบบนี้ แบบนั้น มันมีหลักการกว้างๆ มีเป้าหมายที่แน่นอนคือ ความอุดมสมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร และการเสริมคุณภาพชีวิต หัวใจคือคุณภาพชีวิตของเรา การเกษตร เป็นอาหาร เป็นสิ่งที่เป็นหลักของชีวิตของเรา นี่ก็คือ คำว่า โคกหนองนา โมเดล คือหลากหลายแต่ก็มีหลักการ เป็นแบบนี้ แบบนั้น แต่หลักการก็ไม่ได้ มาผูกมัดพวกเรา เรียกว่า Check List คือเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องนำมาพิจารณาไปสู่ความหลากหลาย และความสมบูรณ์ ของการเกษตรของประเทศ
เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างมากที่เราได้มีการคิด ริเริ่มที่จะมีโคกหนองนา ในพระราชวังดุสิต ในเขตนี้ ของพระราชวังดุสิต คือ พระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งเป็นที่ประวัติศาสตร์ เพราะเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายต่างๆ หลายพระองค์ แล้วเราก็มาพัฒนาพื้นที่ ของเดิมคือเป็นพระราชวังดุสิต แล้วจะไปถึงพระที่นั่งวิมานเมฆที่สวยงาม ย้ายพระตำหนักเรือนต้นมารวมกันในพื้นที่นี้ ก็คือความใส ความเป็นธรรมชาติ เรียกว่าความสะอาด ของสิ่งแวดล้อมและภาวะแวดล้อม เราหลีกเลี่ยงฝุ่นและมลภาวะแวดล้อมไม่ได้ แต่การที่เรามีน้ำ การที่เราปลูกต้นไม้ หรือการที่เราทำให้มี พื้นที่สีเขียว มีธรรมชาติขึ้นนั่นเอง ในเขตพระราชวัง ในกรุงเทพ ในเขตกรุงเทพมหานคร ก็เป็นของที่ดี
ดังนั้นโคกหนองนาจึงเป็นการเสริม พื้นที่นี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พวกเราทุกคน ก็ถือว่า สืบสาน ต่อยอด คือความต่อเนื่อง และการรู้ความเป็นมา การพัฒนาสืบสานต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น แล้วก็ต้องรักษาประเพณี รักษาที่มาที่ไปของประเทศไทยไว้ ในยุครัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ในยุคนี้คือเกษตร เกษตรคือประเทศ ก็คือผืนดิน (Sustainable Agronomy) คืออารยประเทศ เกษตรประเทศ ก็คืออารยประเทศ ทำได้โดยประยุกต์หลายๆ ทฤษฎีที่ได้ทรงรับสั่งไว้
อารยะคือเจริญแล้ว เจริญแล้วก็ต้องเจริญในใจก่อน ประเทศเรารวยที่สุดคือ อารยธรรม เรียกได้ว่าเป็น “Cultural Heritage” เมืองไทยมีวัฒนธรรม คนไทยใจดี มีเมตตา ธรรมะ ธรรมโม มีความรู้เรื่องศาสนา มีศาสนาต่างๆ ที่รักษาไว้ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะต่างๆ ที่รักษาไว้ วัฒนธรรมของเรา มี “Culture” หรือการเป็นคนไทย ประเทศอื่นไม่มี บ้านเรามีวัฒนธรรม มีความเป็นคนไทยเราจึงรอด แต่ไม่ใช่เราคร่ำครึ ประเทศที่มีวัฒนธรรม ไม่ใช่เอาของต่างชาติมาใช้หมด เทคนิคของต่างชาติ เทคโนโลยีของต่างชาติก็ดี แต่เราก็ต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมในบ้านเรา”
โคก-หนอง-นา โมเดล ถือเป็นการจัดการพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ เป็นการให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้นอย่างเป็นระบบ
มีองค์ประกอบดังนี้
จัดทำได้ด้วยการนำดินที่ขุดทำหนองน้ำมาทำเป็นโคกเนินขึ้นไป บริเวณบนโคกอาจปลูก “ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ นอกจากนี้ยังสามารถปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือการ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และสามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายได้ รวมทั้งการปลูกบ้านที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในบริเวณนั้น ๆ
ได้แก่การขุดหนองในพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม อาจทำในรูปแบบของ “หลุมขนมครก” หรือ “คลองไส้ไก่” ที่ทำหน้าที่เป็นคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ หรืออาจทำ “ฝายทดน้ำ” เพื่มเพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก
เป็นการทำพื้นที่นาเพื่อปลูกข้าว โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดินด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน นอกจากนี้ยังควรยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม และสามารถปลูกพืชอาหารตามคันนาเพื่อเป็นอาหารภายในครอบครัวได้ด้วย
ปัจจุบันมีประชาชนคนไทยทั่งทุกภูมิภาคศึกษาและดำเนินการทำ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่ของตน ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำการเกษตรเพื่อความอยู่รอดแล้วยังสามารถพัฒนาเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์และแสดงถึงวิถีชีวิตที่พอเพียงอย่างยั่งยืนด้วย เนื่องจากการพัฒนาเป็นโคกหนองนา ไม่ว่าจะมีพื้นที่เท่าใดก็สามารถพัฒนาได้หมด เพราะเป็นการทำเกษตรผสมผสาน โดยการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั้งไม้กิน ไม่ใช้สอย และไม้เศรษฐกิจ ตามแนวทางของการปลูกไม้ 5 ระดับ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงอย่างยั่งยืน เป็นการเพิ่มรายให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การประยุกต์ใช้ “โคก หนอง นา โมเดล”เหมาะแก่การศึกษาหาความรู้และแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการจัดการพื้นที่ที่เหมาะกับพื้นที่ทางการเกษตร โดยการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านให้มีความเป็นอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ในพื้นที่นั้น ๆ โดยให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเอง อันมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้สำเร็จเร็วขึ้นอย่างเป็นระบบ เกิดประโยชน์ในด้านการเกษตรด้วยหลักกสิกรรมธรรมชาติอย่างยั่งยืน
“…โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกันรักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้น ก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน…โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมา…”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10
29 มกราคม 2564
The “Khok Nong Na Model” is an extension of King Rama IX’s “New Theory Agriculture” rural development concept. It has been continued and elaborated by King Rama X. It aims to organize the land for gardening, cultivating plants, excavating a pool, and constructing housing. In ancient times, it was regarded as a high-class work that was passed down from generation to generation, as a fertility symbol, an art, and an exercise in combining various organic agricultural practices into one area.
“Khok Nong Na” consists of the following components:
(1) “Khok” refers to mounds for cultivating three different types of plants that provide four different types of benefits.
(2) “Nong” refers to the excavation of swamps, canals, or ditches that is called “Khlong Sai Kai”.
(3) “Na” refers to a farm for cultivating organic rice, which includes soil rehabilitation management and sustainable
organic farming to allow tiny life to survive on the land.
Satisfaction and trust in polyculture rather than monoculture are required to make the “Khok Nong Na” concept a reality. Farmers, for example, must work diligently and take action, have leadership in farming, support one another in the family or among farming groups, and find new ideas about farming through exchanging learning experiences with other farmers in order to achieve the Sustainable Development Goals (SDGs). This will contribute to physical development by improving people’s livelihoods, providing fresh air in the area with good surroundings, promoting a healthy body and good mental health, creating a peaceful and fertile environment, and maintaining peace in the community even in times of danger or crisis. The area of “Khok Nong Na” is also a source of food for the community to support each other selflessly and provide possibilities for a secure life for their families by having a career that directly addresses the requirements of sustainable development in a tangible way.
ผู้จัดการออนไลน์. (2021, September 1). เปิด “โคก หนอง นาโมเดล” ผู้ใหญ่สมบัติ บุรีรัมย์ น้อมนำศาสตร์พระราชามุ่งพึ่งพาตนเองยั่งยืน. ข่าวผู้จัดการ แตกต่างกว่าที่นึก ลึกกว่าที่คิด | ผู้จัดการออนไลน์. https://mgronline.com/local/detail/9640000086545
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
Dhammahaso พ. ., Pimnon พ. ., Sakabucha ศ. ., & Phophichit น. . (2022). Concept of “Khok Nong Na Model” for Sustainable Development. Journal of Arts Management, 6(1), 419–434. Retrieved from https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jam/article/view/254107 Matichon. (2021, April 7). ในหลวง ทรงขุดดินริเริ่มโคกหนองนา ในพระราชวังดุสิต มีพระราชดำรัสเรื่อง อารยเกษตร. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/court-news/news_2662437
Muangsukhothai. (2020, January 9). โคก-หนอง-นา โมเดล คือ อะไร. สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอเมืองสุโขทัย. https://district.cdd.go.th/muang-sukhothai/2020/01/09/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%81-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%99%E0%B8%B2-%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
©2022 Institute of Sufficiency Economy. All rights reserved.