โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบซีรา เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งอยู่ ณ บ้านกูแบซีรา หมู่ที่ 4 ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ที่ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในอดีตสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ดินเป็นดินร่วนปนทราย ทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินลูกรัง ราษฎรส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นเป็นอย่างมาก ในช่วงฤดูฝน น้ำฝนจะไหลมาจากเขาตูมและเขาลานควาย ไหลทะลักเข้าสู่บริเวณพื้นที่การเกษตรของหมู่บ้าน ที่ถูกปิดกั้นโดยถนนและคันคูส่งน้ำ จึงทำให้น้ำเอ่อล้นทะลักเข้าสู่หมู่บ้าน เกิดน้ำท่วมขังบริเวณหมู่บ้าน นาข้าว พืชผักและไม้ผลได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ตามฤดูกาล สัตว์เลี้ยงตายและไม่มีที่อยู่อาศัย ถนนหนทางภายในหมู่บ้านถูกน้ำท่วมขัง ยิ่งไปกว่านั้น ในฤดูแล้งไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ในบ่อน้ำตื้นที่ราษฎรขุดไว้ น้ำจะมีสนิมไม่สามารถใช้ดื่มกินได้ ราษฎรในบ้านกูแบซีราจึงมีความยากลำบากเป็นอย่างมาก “แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อนนี้”
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และทรงเยี่ยมเยียนราษฎรกลุ่มบ้านกูแบซีรา และได้ทรงทราบถึงปัญหาของราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวว่าพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ตลอดจนขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภค-บริโภค ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริ ความว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ โดยขอให้แก้ไขปัญหาในเรื่องเร่งด่วนก่อน พร้อมทั้งศึกษาในภาพรวม เมื่อได้ศึกษาในภาพรวมทั้งระบบแล้ว ให้ดูว่าส่วนใดจะแก้ไขอย่างไร และแก้ไขในทีละส่วน เป็นขั้นตอน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบและทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในการแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค มีการจัดทำประปาหมู่บ้านแบบบาดาลขนาดกลาง และจัดส่งให้ถึงราษฎรในพื้นที่ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณหมู่บ้าน และที่ทำกิน โดยการขุดคลองและทำอาคารระบายน้ำท่อลอดในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรนั้น ได้จัดวางระบบจากระบบส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี เพื่อให้ราษฎรได้รับน้ำอย่างทั่วถึง และสามารถทำการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ในช่วงฤดูแล้ง
ในด้านการพัฒนาพื้นที่เพื่อการเกษตร ได้มีการนำผลการศึกษาทดลองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำมาประยุกต์ใช้ให้แก่ราษฎร ทั้งในด้านการแก้ไขและปรับปรุงดิน โดยการสาธิตการพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงพื้นที่ดินเสื่อมโทรม และจัดระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ลุ่ม ให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนการพัฒนาอาชีพเกษตร ได้เน้นส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎร โดยวางแผนการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะข้าว ส่งเสริมการปลูกไม้ผลพันธุ์ดี ส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ เกษตรผสมผสาน และการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
สำหรับงานด้านปศุสัตว์ มีการส่งเสริมการเลี้ยงโค แพะ และสัตว์ปีกอย่างถูกต้อง ด้านการประมง มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ราษฎรพอมีพอกินต่อการยังชีพต่อไป
พร้อมกันนี้ ได้พัฒนาและส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตรควบคู่กันไป โดยจัดตั้งกลุ่มอาชีพสตรี กลุ่มอาชีพเยาวชน จัดตั้งหมู่บ้านตัวอย่างฝึกอาชีพเพื่อยกระดับสาขาช่างฝึกจักร สาขาอาหารและขนม และสาขาทอเสื่อ ซึ่งดำเนินการอยู่แล้วในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ และมีรายได้ที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ มีการดูแลโครงสร้างพื้นฐานและความจำเป็นพื้นฐานของราษฎร ด้วยการปรับปรุงถนนให้สามารถสัญจรได้ตลอดทั้งปี ตลอดทั้งดูแลแก้ไขปัญหาสาธารณสุขมูลฐาน ด้วยการรณรงค์และเร่งรัดการมีส้วมใช้ เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหาร ล้วนเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของราษฎร สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขยั่งยืนบนความพอเพียงพออยู่พอกิน
ดังต่อไปนี้
ดำเนินการขุดลอกคลองระบายน้ำ 3 สาย เพื่อระบายน้ำในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและในช่วงฤดูแล้งให้สามารถส่งน้ำไปในพื้นที่ทำการเกษตรได้
จัดทำผังฟาร์ม เพื่อทำการเกษตรผสมผสาน ปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ และการอบรมให้ราษฎรในเรื่องการปลูกพืชต่างๆ ได้แก ปลูกอ้อยเคี้ยว การปลูกพืชไร่ การปลูกพืชผักสวนครัว รวมทั้งส่งเสริมการเลี้ยงโค เลี้ยงแพะ และสัตว์ปีก ฯลฯ
สร้างระบบประปาหมู่บ้านเพื่อการอุปโภค-บริโภค
การสร้างถนนลาดยาง ให้ราษฎรได้สัญจรไปมาได้สะดวกมาก ยิ่งขึ้น
การสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก่อสร้างลานกีฬาเอนกประสงค์ และก่อสร้างศูนย์พัฒนาอาชีพให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้
ในปี 2548 จังหวัดปัตตานีได้ดำเนินการขยายเขตระบบไฟฟ้า ประกอบด้วย ขายเขตไฟฟ้าแรงสูง และขายเขตไฟฟ้าแรงต่ำ ไปยังแปลงที่ดินทำการเกษตรของเกษตรกร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง
โครงการสามารถช่วยเหลือราษฎร จำนวน 78 ครัวเรือน 371 คน ในบ้านกูแบซีรา ดังนี้
1. สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังให้สามารถไหลผ่านไปได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
2. ราษฎรสามารถทำการเกษตร ทำนา เกษตรผสมผสาน ปศุสัตว์ และทำศิลปาชีพ ทำให้ราษฎรมีอาชีพและรายได้อย่างมั่นคง
3. ราษฎรสามารถมีไฟฟ้าใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ราษฎรที่บ้านกูแบซีราเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่ยังทำให้ราษฎรในเขตพื้นที่บ้านปูลากาซิง และบ้านใกล้เคียงในตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้รับประโยชน์จากพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวด้วย แนวทางการพัฒนาพื้นที่ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารนั้น ทรงให้ดำเนินการตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือมีพระราชประสงค์ให้ทุกหน่วยงานประสานและร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินงาน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนภายใต้แผนงานที่กำหนดไว้ เป็นการลดปัญหาความซ้ำซ้อน และการขาดการดูแลเอาใจใส่
ยิ่งไปกว่านั้นรูปแบบการพัฒนาที่พระราชทานไว้นี้ เป็นการพัฒนาจากจุดเล็กไปหาจุดใหญ่ เป็นการระเบิดจากข้างใน ในระดับพื้นที่ และขยายผลสู่ระดับชาติต่อไป และไม่มีพระราชประสงค์ที่จะให้ทำอะไรใหญ่โตเกินความจำเป็น ค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญราษฎรจะต้องมีส่วนร่วม และมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนสืบไป
“… ให้แก้ไขปัญหาเรื่องเร่งด่วนก่อน พร้อมทั้งศึกษาในภาพรวม เมื่อได้ศึกษาในภาพรวมทั้งระบบแล้ว ให้ดูว่าส่วนใดจะแก้ไขอย่างไร และให้แก้ไขไปทีละส่วนเป็นขั้นตอน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ…”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
Royally-initiated by King Rama X while he was a Crown Prince in 2001, this development project has been designed to relieve the life difficulties and livelihood of a poor Muslim community of about 400 members in Gorlum, Yarang, Pattani, in the for south of Thailand. While accompanying King Rama IX and the Queen in their royal visit, King Rama X noticed that the villagers suffered from their lands being flooded. Also, they did not have sufficient drinking water and water for household use. His Majesty consulted with relevant responsible agencies so that the villagers could receive immediate assistance and advice. At the same time, officials were studying ways to improve their livelihood in several aspect ranging from infrastructure development, healthcare, income generation, agricultural development, lifestocks, and occupational advice. At present, not only the livelihoods of Kubaezira villagers benefit from the royal benevolence, but those in Pulakazing and nearby villagers can also improve theirs. This is a kind of development method that King Rama X continued the legacy of his father, when a development can start from a small area and eventually extend to larger areas and contexts, which will ultimately support the people to be able to live independently with dignity and minimum support from outside.
โครงการ พัฒนาพื้นที่บ้านกูแบซีรา(กิจกรรมระบายน้ำและอาคารประกอบ). (n.d.). สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. https://km.rdpb.go.th/Project/View/8182
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา. หมู่บ้านกูแบซีราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร. (n.d.). www.edunewssiam.com/th/articles/199346-หมู่บ้านกูแบซีรา%
©2022 Institute of Sufficiency Economy. All rights reserved.